สนช.เตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ วาระ 2-3 วันที่ 15 พ.ย.นี้

ข่าวการเมือง Wednesday November 14, 2018 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า การประชุม สนช. ในวันที่ 15 พ.ย.จะมีการประชุม สนช. เป็นพิเศษ เริ่มเวลา 9.00 น.โดยจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...

นอกจากนั้น จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ จำนวน 1 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

อนึ่ง ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลัง ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณารายละเอียดแล้ว โดยคาดว่ามีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.63

สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษียังแบ่งเป็น 4 ประเภท โดยที่ดินประเภทเกษตรกรรม สำหรับบุคคลธรรมดาจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทแรก และจะเริ่มจัดเก็บภาษีในส่วนที่จาก 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตรา 1 ล้านบาท เสียภาษี 100 บาท เช่น ที่ดินประเภทเกษตรกรรม ที่มีมูลค่า 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 1 พันบาทต่อปี เป็นต้น โดยในส่วนนี้กฎหมายจะมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในช่วง 3 ปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกรรายย่อย

ขณะที่เกษตรรายใหญ่ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลจะคิดอัตราภาษีตั้งแต่บาทแรก โดยที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท จะเสียภาษี 100 บาท เช่น ที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาท เสียภาษี 1 พันบาท, ที่ดินมูลค่า 20 ล้านบาท เสียภาษี 2 พันบาท เป็นต้น โดยจะเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปีแรก ไม่มีการเว้นให้เหมือนเกษตรรายย่อย

ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยกรรมาธิการเห็นชอบให้เว้นภาษีบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 ล้านบาทเหมือนเดิม จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการพิจารณาว่าจะเว้นให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท จะเก็บล้านละ 200 บาท เช่น บ้านมูลค่า 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 2 พันบาทต่อปี ในส่วนบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไปจะเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกที่ล้านละ 200 บาท เช่น บ้านมูลค่า 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 2 พันบาทต่อปี

ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ที่ใช้เพื่อการอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์จะเก็บแบบขั้นบันไดสูงสุด ไม่เกิน 0.7% ของราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยผู้ที่เสียภาษีใหม่มากกว่าเสียภาษีที่เคยเสียอยู่ ในส่วนที่เกินจะมีการบรรเทาให้เป็นเวลา 4 ปี โดยเก็บภาษีปีแรก 25% ปีที่ 2 จัดเก็บ 50% ปีที่ 3 จัดเก็บ 75% และจัดเก็บภาษีในอัตรา 100% ในปีที่ 4

ในส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเริ่มเก็บที่อัตรา 0.3% ของราคาประเมิน และหากไม่ใช้ประโยชน์จะเก็บเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ต่อเนื่องไม่เกิน 27 ปี ในอัตราไม่เกิน 3% จนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อต้องการให้มีกระตุ้นให้ใช้ที่ดินว่างเปล่าให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น เมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นปีละ 4% ก็ถือว่าไม่ได้เป็นภาระกับผู้เสียภาษี

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีการเก็บภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บ อยู่ที่ปีละ 3 หมื่นล้านบาท เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้การเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ภายใน 4 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ