นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้นต้องการให้มีตัวแทนของประชาชนที่มีหลากหลาย จากเดิมที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมือง เพื่อให้การเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง
"กระบวนการคัดเลือกที่ผ่านมาได้คนดี คนเด่น คนดัง แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการได้มาก็ต้องอิงฝ่ายการเมือง และเสี่ยงที่จะถูกครอบงำทางการเมือง ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมากระบวนการถอดถอนยังไม่สามารถจัดการใครได้เลย" นายอุดม กล่าว
อดีต กรธ. กล่าวว่า การออกแบบการเลือกตั้ง ส.ว.ตามแนวทางดังกล่าวนี้เชื่อว่าผู้ที่ทำรัฐประหารอยากให้มีการปฏิรูปด้านการเมืองอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศเข้าที่เข้าทาง ไม่อยากให้เสียของเหมือนที่ผ่านมา
สถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปยังต้องอาศัยระบอบรัฐสภา เพราะใช่ว่าคนที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภาให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ และกระบวนการเลือก ส.ว.ครั้งนี้จะสะท้อนข้อเท็จจริงว่าประชาชนคิดอย่างไร ต้องยอมรับว่าคนที่มีชื่อเสียงในแต่ละกลุ่มย่อมได้เปรียบคนอื่น และที่สำคัญไม่อยากให้เกิดบรรยากาศแบบเดิมที่มีการหาเสียงด้วยการกล่าวหาใส่ร้ายกัน
"ไม่มีการเลือกตั้งไหนไม่มีการเมือง แต่เราอยากไม่เห็นการครอบงำจากการเมือง" นายอุดม กล่าว
อดีต กรธ. กล่าวว่า การเมืองบ้านเรายังมีข้อจำกัดเพราะต้องอาศัยทุน พรรคพวก และแอบอิงในเรื่องผลประโยชน์ แต่ต้องดูว่าผลประโยชน์ดังกล่าวเพื่อใคร ทำให้ต้องพยายามคิดหาการเมืองระบบใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากสุด
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ คงไม่มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่กล้าประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เพราะจะถูกมองว่าทำไมไม่สนับสนุนคนของตัวเอง ดังนั้นคงจะมีแต่พรรคการเมืองขนาดเล็กเท่านั้น