นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการที่ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีแนวทางปฏิบัติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงไม่สามารถนำแนวทางเดิมมาใช้ได้อีก ดังนั้นจึงต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ขณะที่การรายงานข่าวของสื่อมวลชนเอง จะต้องมีความระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือทำผิดกฎหมาย
"ขอยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมเต็มที่ 100% ทั้งงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และบุคลากร แต่เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าตามกฎหมายใหม่ ไม่สามารถนำแนวทางเดิมมาใช้ จึงต้องเรียนรู้กับสิ่งที่มาใหม่" นายอิทธิพร กล่าว
สำหรับที่มาของ ส.ว.ทั้งหมด 250 คน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. กกต.ดำเนินการตามขั้นตอน โดยจะมีการคัดเลือกระดับอำเภอในวันที่ 16 ธ.ค.61, ระดับจังหวัดในวันที่ 22 ธ.ค.61 และระดับประเทศในวันที่ 27 ธ.ค.61 ให้ได้รายชื่อ 100 รายชื่อ และสำรอง 100 รายชื่อ ก่อนเสนอให้ คสช.พิจารณาให้เหลือจำนวน 50 รายชื่อ และสำรองอีก 50 รายชื่อ ภายในวันที่ 2-5 ม.ค.62
2.คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้น จะดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครให้ได้ 400 รายชื่อ เสนอให้ คสช.พิจารณาให้เหลือ 194 รายชื่อ และ 3.ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 ราย ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม
ประธาน กกต.กล่าวว่า ขณะนี้ กกต.มีความพร้อมแล้วทั้ง 4 ด้าน คือ 1.ความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง โดยออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก ส.ว.ภายใน 4 วันหลังจากมี พ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้ง ส.ว.มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ระดับจังหวัดและอำเภอเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการการเลือก
ขณะเดียวกัน ได้คัดเลือกองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว.ทั้ง 10 กลุ่มมีจำนวน 436 องค์กร จากที่สมัครมายัง กกต.จำนวน 476 องค์กร โดย 40 องค์กรที่ไม่มีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัคร เนื่องจากยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน หรือเป็นองค์กรที่แสวงหากำไร แต่หลังจากที่องค์กรเหล่านั้นได้อุทธรณ์แล้ว กกต.ได้ประกาศรับรององค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัครเพิ่มเติมอีก 3 องค์กร รวมเป็น 439 องค์กร
2.ความพร้อมด้านงบประมาณ กกต.ได้รับการจัดสรรงบเพื่อดำเนินการในส่วนนี้จำนวน 1,303 ล้านบาท 3.ความพร้อมในการประชาสัมพันธ์ทางสถานีโทรทัศน์, สถานีวิทยุ, เว็บไซต์, หนังสือพิมพ์ เป็นต้น และ 4.ความพร้อมในการสืบสวนและไต่สวน
"เชื่อว่าความพร้อมของ กกต.ดังกล่าว จะส่งผลให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกตามกฎหมายใหม่ประสบความสำเร็จ ตามเจตนารมย์ของกฎหมาย" นายอิทธิพร กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลที่จะเปิดรับสมัครทั้ง 928 อำเภอและสำนักงานเขต (ใน กทม.) ทั่วประเทศ ในวันที่ 26-30 พ.ย.นี้ จะมีบทบาทสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี และคงจะไปบอกว่าไม่คุ้มค่ากับการทุ่มงบประมาณลงไปกว่า 1,300 ล้านบาทไม่ได้
"ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลนี้มีความสำคัญมาก เพราะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ส.ว.จึงมีบทบาทในการเลือกนายกฯ อย่างน้อยสองครั้ง ถึงแม้กระบวนการคัดเลือกของ กกต.จะได้สัดส่วน ส.ว.แค่ 50 คน แต่ทุกคนก็มีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี" พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ขั้นตอนการเลือก ส.ว.นั้น ผู้สมัครแต่ละคนจะต้องมาลงทะเบียนในช่วงเวลาที่กำหนด หากมาเลยเวลาจะถูกตัดสิทธิ์ หลังจากนั้นผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจะต้องลงคะแนนเลือกกันเอง ดังนั้นเมื่อเลือกเสร็จแล้วต้องอยู่รอดูผล หากเกิดกรณีที่มีการฮั้วเกิดขึ้น คือมีผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนเลือกตั้งถึง 10% กฎหมายกำหนดให้มีการเลือกใหม่ แต่หากไม่เกิดกรณีฮั้วกัน แล้วพอประกาศผลก็ถือว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับเลือกจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
สำหรับการทำงานของ กกต.ในแต่ละเรื่องนั้น จะมีกฎหมายเกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้นๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องดูกฎหมายประกอบให้ครบถ้วนเพื่อไม่ให้ทำผิดกฎหมาย
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเลือกระดับประเทศที่อิมแพ็คน่าจะโกลาหลพอสมควรเพราะจะมีผู้สมัครมาพร้อมกันถึง 6 พันคน"
ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น เชื่อว่าในเดือน ธ.ค.61 น่าจะมีข่าวดี โดยขั้นตอนทุกอย่างที่วางไว้ในเดือน ม.ค.62 จะขยับเร็วขึ้นอีกสองสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงมากขึ้น