นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีมีอดีต ส.ส.ของพรรคย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นถึง17 คนนั้น ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะในการเลือกตั้งทุกครั้งก็จะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ แต่ตนเองมั่นใจว่าพื้นที่ที่มีอดีต ส.ส.ออกไปก็จะมีคนใหม่ที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานทดแทนในนามพรรค และเชื่อมั่นว่าคนที่มาใหม่จะสามารถทำงานให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องดีที่การโยกย้ายสิ้นสุดลงแล้วเพราะประชาชนจะได้เห็นภาพชัดเจน แต่ก็ทำให้เกิดคำถามเรื่องอุดมการณ์ว่ามีความหมายมากน้อยแค่ไหน
ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็มีการย้ายสังกัดโดยไม่ทราบด้วยซ้ำว่าพรรคการเมืองนั้นมีอุดมการณ์ นโยบายอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เมื่อตรงนี้จบแล้วก็เป็นเวลาที่แต่ละพรรคจะไปนำเสนอความคิดที่ชัดเจนให้ประชาชนรับทราบ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ประชาชนจะทำหน้าที่กลั่นกรองนักการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และตนเองเชื่อว่าคนที่ไปคิดตัวเลขสมการแบบเดิมก็จะไม่เป็นอย่างที่คิด ที่ไปคิดว่านับตามจำนวนอดีต ส.ส.แล้วจะเป็นอย่างนั้น เนื่องจากการเลือกตั้งทุกครั้งมีคนใหม่เข้ามาร้อยละ 20-30 เพราะฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอด
"การเมืองมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่ว่ามีอดีต ส.ส.เยอะ เผลอ ๆ หลังเลือกตั้งแล้วก็ยังมีอดีต ส.ส.เยอะอยู่" นายอภสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า สำหรับการสร้างคนใหม่ของพรรคนั้น ตนเองดีใจที่มีคนรุ่นใหม่สนใจเข้าสู่การเมืองมากขึ้นถ้าเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะว่างเว้นมานาน และมีคนอีกรุ่นหนึ่งที่คิดว่าจะปล่อยการเมืองให้เดินไปโดยที่ไม่มีส่วนร่วมไม่ได้แล้ว จึงหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาการเมืองของเรา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้าเป็นการเลือกตั้งที่ประเทศกับประชาชนได้ประโยชน์ จึงต้องหนีการนับหัวอดีต ส.ส.เพราะต้องให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ประชาชนจะเลือกว่าต้องการให้ประเทศไทยเดินไปทิศทางไหน
"อยากจะให้การบริหารบ้านเมืองเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ก็มีพรรคการเมืองที่บอกว่าเชื่อมั่นในแนวทางนี้ หรืออยากให้บ้านเมืองเป็นเหมือนก่อนการปฏิวัติก็มีพรรคการเมืองที่ยังยืนยันว่าจะทำแบบเดิมๆ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นทางหลักและเป็นทางออกของประเทศ โดยยึดหลักคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย เอาปัญหาประชาชนเป็นตัวตั้ง เช่น เศรษฐกิจไม่มุ่งที่ตัวเลขภาพรวมอีกต่อไป แต่เจาะไปว่าจะแก้ปัญหาให้คนทุกกลุ่มอย่างไร และลดความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างอย่างไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า การเมืองอาจจะมีมากกว่า 3 ขั้ว คือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ก็ได้ แล้วแต่ว่าจะมีใครเสนอตัวเป็นขั้วที่ 4 ที่ 5 หรือไม่ แต่ความพยายามที่จะบีบให้เหลือ 2 ข้างคือ เผด็จการกับประชาธิปไตยนั้นไม่จริง เราไม่สนใจเล่นเกมเลือกขั้ว เพราะประเทศมีทางเลือกที่ดีกว่านั้น จึงต้องการยกระดับให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้
"บางคนบอกให้เลือกเผด็จการกับประชาธิปไตย ผมก็ไม่แน่ใจว่าคนที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยด้วยจิตวิญญาณจริงหรือไม่ และมีส่วนทำให้สูญเสียประชาธิปไตยมาก่อนหน้านี้หรือไม่ บางคนบอกว่าเลือกระหว่างคนดีกับคนไม่ดี ก็อยากให้ดูว่าคนดีดีจริงหรือเปล่า เพราะฝ่ายที่อ้างตัวเองเป็นคนดีก็ทำตัวเหมือนคนไม่ดีเคยทำอยู่ หรือบางทีก็เอาคนที่บอกว่าไม่ดีแล้วบอกว่าเขาเป็นคนดีแล้ว เราต้องเอาการเมืองพ้นจากสิ่งเหล่านี้ดีที่สุด มาถกกันว่าต้องการให้บ้านเมืองไปในทิศทางไหนจะเดินแบบรวมศูนย์อำนาจ หรือประชานิยม หรือจะเดินแบบไหนว่ากันมา" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยใช้กลยุทธ์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐใช้วิธีรวมแบงก์ร้อยเป็นแบงก์พัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราไม่ได้สนใจเรื่องแบงก์ แต่สนใจว่าอยากยกระดับการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากการใช้เล่ห์เหลี่ยม ใช้ช่องของกฎหมาย ใช้วิธีต่อรองเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ พรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางตรงไปตรงมา ซึ่งตัวตนของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่อุดมการณ์ นโยบาย และบุคลากร โดยคนอยู่ที่นี่ต้องมีความชัดเจนและมั่นคง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐใช้โครงการอีอีซีมาเป็นฐานหลักในการหาเสียงพื้นที่ภาคตะวันออกว่า เป็นสิทธิของแต่ละพรรค ในส่วนของ ปชป.ยังมั่นใจว่าภาคตะวันออกที่ประชาชนเคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มานั้นยังมีความมั่นคงในเรื่องคะแนนเสียงอยู่ และคิดว่าทางเลือกที่เสนอคือการพัฒนาพื้นที่โดยคำนึงถึงชุมชนและคุณภาพชีวิตมากกว่าการเอาตัวเลขไปโฆษณาว่ามีเงินลงทุนมากมายขนาดไหน แต่ไม่ปรากฏชัดว่าประโยชน์ที่เกิดกับประชาชนและชุมชนคืออะไร
ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่รอการทาบทามลงบัญชีรายชื่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่การที่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทั้งหลายยึดถือเพียงแค่ว่าตามกฎหมายโดยไม่ดูเจตนารมณ์ก็ทำได้ แต่แสดงให้เห็นว่าไม่มีความพยายามที่จะยกระดับการเมืองให้ดีขึ้น พร้อมยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่คิดที่จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะเสนอตัวเป็นทางหลักของประเทศและจะแข่งขันบนแนวคิดนี้ โดยเคารพการตัดสินใจของประชาชน ส่วนจะทำงานกับใคร จะสนับสนุนใคร หรือให้ใครมาสนับสนุนเราต้องยึดแนวทางเป็นหลัก