"เพื่อไทย"แตกหน่อเครือข่ายสู้ศึกเลือกตั้งแก้เกม รธน.ใหม่ หรือแพแตก

ข่าวการเมือง Friday November 30, 2018 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเลือกตั้งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด เมื่อปี 2550 และปี 2554 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ยังคงได้รับความนิยมขจากประชาชนจนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล ทั้งภายใต้พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ซึ่งผลการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งสามารถกวาดที่นั่งได้ถล่มทลาย โดยพรรคพลังประชาชนได้ที่นั่งถึง 233 ที่นั่ง ส่วนสมัยของพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง 265 ที่นั่ง แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุด เห็นได้ถึงความพยายามป้องกันพรรคใดพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงได้เป็นที่มาของสูตรเลือกตั้งแบบ"จัดสรรปันส่วน" โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่วงชาติ (คสช.) ระบุว่า เพื่อต้องการให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย จึงได้ออกแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว กาครั้งเดียว ทั้งคนและพรรคได้คะแนนไปด้วย ไม่ว่าคนในเขตจะชนะหรือไม่ คะแนนที่เรากาให้ก็จะถูกนำไปคำนวณจำนวนที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคที่เราเลือกด้วย จากนั้นนำคะแนนทั้งหมดมาเทียบหาจำนวน ส.ส. ที่พึงมีในสภา แล้วหักลบกับจำนวนส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้ หากพรรคไหนมีส.ส.ไม่ถึงจำนวนพึงมี ก็ให้นำ ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าไปเติมให้เต็ม

ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยได้รับผลกระทบจากการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นี้ไปเต็มๆ เพราะปิดทางให้ ส.ส.เพื่อไทยเข้าสภาฯถล่มทลายแบบในอดีต เพราะในรัฐธรรมนูญออกแบบทำให้ ยิ่งได้ ส.ส.เขตมากเท่าไหร่ เท่ากับว่า ยิ่งปิดทางส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้นเท่านั้น ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเปลี่ยนเกมส์เล่น เป็นที่มาของการแตกพรรค หรือจะเรียกว่าเป็นพรรคในเครือข่ายทักษิณ เพื่อหวังตักตวงทุกคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด

เริ่มจากเปิดตัวพรรคเพื่อธรรม โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย เป็นหัวหน้าพรรค ดร.นลินี ทวีสิน รองหัวหน้าพรรค และ นายพงศกร อรรณนพพร ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค โดยหัวหน้าพรรคออกมายืนยันว่า พรรคเพื่อธรรมจะไม่เป็นพรรคสำรองของใคร และพร้อมจับมือพรรคการเมืองที่ต้านเผด็จการ พร้อมตั้งเป้ากวาด ส.ส.เกิน 20 ที่นั่ง

ต่อด้วยการเปิดตัวพรรคเพื่อชาติ ที่มี นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช.นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตแกนนำพรรคพลังประชาชน และเป็นตัวชูโรงของพรรค แม้ทั้งสองคนยืนยันว่าเป็นเพียงผู้สนับสนุน และไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ แต่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพรรคเพื่อชาติที่เน้นสร้างความปรองดอง และแม้ว่าสมาชิกพรรคเพื่อชาติจะมีอดีตแกนนำคนเสื้อแดงมาร่วม แต่ยืนยันว่า พรรคเพื่อชาติ ไม่ใช่พรรคของกลุ่ม นปช.ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับพรรคเพื่อไทยและพรรคเพื่อธรรม

แต่พรรคที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ คือ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)ที่วางตัวเป็นพรรคคนรุ่นใหม่ ได้ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตส.ส.ขอนแก่น ลูกชายนายเสริมศักดิ์และนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค นายฤภพ ชินวัตร ลูกชายนายพายัพ ชินวัตร รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค นายมิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด ลูกชายของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค นายต้น ณ ระนอง ลูกชายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง และนายวิม รุ่งวัฒนจินดา ทีมงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั่งในตำแหน่งรองเลขาพรรค หรือแม้กระทั่งน.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ลูกสาวของนางเยาวเรศ ชินวัตร ก็เข้ามาทำหน้าที่นายทะเบียนสมาชิกพรรค

จากพรรคที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่บางคนยังไม่เคยมีประสบการณ์ลงสนามเลือกตั้ง แต่หลังเปิดตัวพรรคไม่นาน เริ่มมีบรรดาระดับอดีตรัฐมนตรี และส.ส.ที่มีชื่อเสียงจากพรรคเพื่อไทย โดดเข้าร่วมจนพรรคดูโดดเด่นขึ้นมา ทั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง นางฐิติมา ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายพิชิต ชื่นบาน อดีตทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย

หรืออย่างแกนนำนปช.ที่เข้าพรรคไม่ว่าจะเป็นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ยังรวมถึงอดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดในรัฐบาลยุค คสช.อย่างพลเอก ยศนันท์ หร่ายเจริญ

นักประชาธิปไตยที่อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดอย่าง นายจาตุรนต์ ชี้แจงถึงสาเหตุที่ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหากับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง แต่จำเป็นต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. และส่วนตัวเชื่อว่าพรรคการเมืองจากฝ่ายประชาธิปไตยจะได้เสียงมากถึง 251 เสียง

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ยืนยันเช่นกันว่า การเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติครั้งนี้ เพื่อต้องการต่อสู้กับระบบการสืบทอดอำนาจ ไม่เกี่ยวกับความขัดแข้งภายในพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด

ทางด้านฝั่งเพื่อไทย อย่างนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แม้จะรู้สึกใจหายกับกระแสเลือดไหลของพรรค แต่มองว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา และเป็นเรื่องธรรมดาที่สมาชิกจะต้องหาเส้นทางเพื่อมาทำงานทางการเมืองตามระบบรัฐสภา และยังเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนได้คะแนนเสียงสูงสุดเป็นอันดับ 1

หรือแม้แต่การเปิดตัวพรรคเพื่อชาติ นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า ไม่ใช่เป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย หรือเป็นเกมในการเลือกตั้ง ที่ต้องการเก็บคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือป้องกันการถูกยุบพรรคเพื่อไทย แต่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ จึงไม่มีพรรคการเมืองใดจะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเพียงพรรคเดียว และไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่เชื่อว่า เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ คือพรรคที่เอาประชาธิปไตยกับพรรคที่เอาเผด็จการ ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ

ภาพการเปิดตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาจากขั้วทักษิณ มีมุมสะท้อนจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่วิเคราะห์กลยุทธ์แตกสาขาของพรรคเพื่อไทย ว่า ใช้ยุทธวิธีแตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ และอาจจะเป็นตามเป้าที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าจะได้เกิน 300 เสียง ด้วยการให้พรรคของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปเน้นกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ หรือพรรคประชาชาติของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เน้นพื้นที่ภาคใต้และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะมีกลุ่มเป้าหมายไปอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อแยกกันไปแล้วสุดท้ายก็จะมารวมกัน

แต่เมื่อสิ้นสุดวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งครบกำหนดการสมัครสมาชิกพรรค ภายใน 90 วัน กลับปรากฏภาพการไหลออกของส.ส.พรรคเพื่อไทย แม้ส่วนหนึ่งจะหันไปซบกับพรรคไทยรักษาชาติเป็นหลัก แต่เกิด"พลังดูดย้ายแบบสลับขั้ว" มีอดีตส.ส.เพื่อไทยนับสิบเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เช่น นายไผ่ ลิกค์ อดีตส.ส.กำแพงเพชร นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตส.ส.เลย นายฐานิสร์ เทียนทอง และนางสาวตรีนุช เทียนทอง อดีต ส.ส.สระแก้ว พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีต ส.ส.กำแพงเพชร นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี นายฉลอง เรี่ยวแรง อดีตส.ส.นนทบุรี นายสุพล ฟองงาม อดีตส.ส.อุบลราชธานี รวมไปถึงนายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ลูกชายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่พร้อมลงสนามเลือกตั้งในเขตพื้นที่เดิม จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

แต่เพื่อไม่ให้เหล่าบรรดากองเชียร์ และแฟนพันธุ์แท้ของพรรคเพื่อไทยต้องเสียขวัญกำลังใจไปมากกว่านี้ บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย ต้องประกาศก้องผ่านผ่านโลกโซเชียลปลุกใจสู้ศึกเลือกตั้ง แม้แม่ทัพนายกองหลายคนแปรพักตร์ก็ตามที กระทั่งคุณหญิงสุดารัตน์ ก็ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวปลุกขวัญด้วยคำพูดที่ว่า #เลือดข้นคนเพื่อไทย #เพื่อไทยหัวใจคือประชาชน พร้อมชื่นชมและขอคารวะในความแข็งแกร่งของสมาชิกพรรคที่ร่วมยืนหยัดรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกับพรรคอย่างมั่นคง และยืนยันว่าจากนี้ ‘เพื่อไทย’ จะเดินหน้าทำงานเพื่อความมั่นคงของสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทวงความสุขกลับมาสู่คนไทย นำประชาธิปไตยกลับมาสู่ประเทศเพื่อคว้าโอกาสในโลกยุคใหม่ใส่มือคนไทย

ด้านนายภูมิธรรม ออกแถลงการณ์ในนามของพรรถึงเรื่อการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.ว่า สถานการณ์การใช้"เครื่องดูดที่มีพลังมหาศาล"ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลไกต่างๆ ที่ผู้มีอำนาจ ยื่นข้อเสนอและสารพัดเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งสินทรัพย์ เงินทอง รวมถึงการช่วยเหลือในทางคดีหรือการช่วยคลายปัญหาให้เครือญาติพี่น้องที่ยอมรับเงื่อนไขการย้ายไปอยู่ร่วมกัน ซึ่ฃล้วนเป็นเหตุผลในการใช้เป็นข้ออ้างในการย้ายพรรคทั้งสิ้น

นายภูมิธรรม ระบุด้วยว่า แม้ตนเองจะเคารพในข้อจำกัดและการเลือกเส้นทางชีวิตทางการเมืองของแต่ละคน และมองว่าปัญหาอุปสรรคที่ยืนขวางหน้าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เปรียบเสมือน "คลื่นร่อนทราย" แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาที่จะมีเพียงทรายเม็ดใหญ่ที่แข็งแรงหลงเหลืออยู่

พร้อมยืนยันว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่มีวันทำลายอุดมการณ์และความเชื่อมั่นของพรรคที่มีจุดยืนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย พรรคได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งยังมีบุคลากรที่มีคุณภาพทางการเมือง และมีบุคลากรที่เป็นที่ไว้วางใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อีกจำนวนมาก และยังหวังที่จะเป็นพรรคการเมืองที่จะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด

หรือแม้กระทั่ง นายวัฒนา เมืองสุข อดีต โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงความห่วงใยและส่งกำลังใจมาให้ พร้อมจี้ใจดำว่า ในที่สุดพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหนุนให้หัวหน้าเผด็จการได้สืบทอดอำนาจ ทำสิ่งที่สวนทางกับการปฏิรูป ถ้าอยากได้นักการเมืองแบบที่ดูดไป ก็ไม่จำเป็นต้องยึดอำนาจให้บ้านเมืองเสียหาย

และมองว่า อดีต ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่ย้ายไปสังกัดพรรคอื่น ทั้งพลังประชารัฐ 16 คน ชาติไทยพัฒนา 3 คน ภูมิใจไทย 3 คน และเพื่อชาติ 1 คน รวม 23 คน ทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากการหลอกลวงประชาชนที่ต้องการเห็นการปฏิรูปการเมือง แต่ในที่สุดหัวหน้านกหวีดและทหารได้ฉวยโอกาสยึดอำนาจ จากนั้นปฏิรูปการเมืองด้วยการดูดอดีต ส.ส. มาเข้าคอก เพื่อหนุนการสืบทอดอำนาจต่อไป

แต่ยังเชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปิดทางให้ผู้สมัครหน้าใหม่เสนอตัวให้ประชาชนได้เลือก การออกไปของอดีต ส.ส. ไม่ได้ทำให้พรรคกระเทือน หรือทำให้พรรคเสียขวัญ เพราะพรรคเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาหลายครั้งแล้ว ทั้งสมัยที่ยุบพรรคพลังประชาชน ที่ต้องเสีย ส.ส. ไปยกมือหนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ หรือจะเป็นกลุ่มเพื่อนเนวินก็มีจำนวนถึง 37 คน ไม่นับรวมกลุ่มอื่นๆ แต่มาครั้งนี้พรรคเสียส.ส.ไปเพียง 23 คนและเป็นเพียงอดีต ส.ส. ซึ่งยังไม่รู้ว่าประชาชนจะเลือกกลับเข้ามาหรือไม่

หลังจากนี้ คงถึงเวลาจัดเตรียมองคาพยพในฝากฝั่งของพรรคเพื่อไทย และพรรคในเครือข่ายทั้งหมด ว่าจะเปิดเกมส์สู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร เพราะหลายพื้นที่เสียคนนำทัพให้กับฝ่ายตรงข้าม การเข็นผู้สมัครหน้าใหม่ถอดด้ามลงสนามครั้งนี้ เป็นเรื่องวัดใจพรรคเพื่อไทยเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจ พรรคในเครือข่าย"ทักษิณ"จะนำเสนอนโยบายอย่างไร แน่นอนว่านอกเหนือจากการชูเรื่องการเลือกพรรคจากฝั่งประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ หรือนโยบายประชานิยมที่ประชาชนจับต้องได้ อย่างที่เคยทำในอดีตและนำไปสู่การชนะการเลือกตั้ง มารอบนี้เจอโจทย์ข้อสอบที่ยากขึ้น เป็นการบ้านข้อใหญ่ที่เจ้าของพรรคตัวจริงต้องวางแผนเพื่อผ่านไปให้ได้ หากหวังจะกลับเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง

และแม้ว่า พรรคเพื่อไทย เคยสร้างปรากฏการณ์นำพายิ่งลักษณ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ในเวลาเพียง 49 วัน แต่ในครั้งนั้นบรรดาแกนนำและอดีต ส.ส.อยู่กันครบหน้า ซึ่งแตกต่างกับการเลือกตั้งครั้งนี้โดยสิ้นเชิง ถือเป็นการวัดความนิยมของพรรคได้เป็นอย่างดีว่าระหว่างพลังดูด กับพลังศรัทธาในตัวของคนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตรใครจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะได้

แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อถึงวันที่ต้องส่งรายชื่อนายกรัฐมนตรีพรรคในเครือข่ายทักษิณ จะตัดสินใจส่งใครเป็นเบอร์ 1 เพื่อเป็นหัวขบวนเข้าไปยึดเมืองต่างๆก่อนจะกลับมารวมตัวตั้งเป็นเมืองใหม่หลังเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่น่าติดตามอย่างยิ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ