สวนดุสิตโพล เผยประชาชนส่วนใหญ่ 38.42% เห็นว่าการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.เป็นสิทธิส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รองลงมา 29.33% เห็นว่าเป็นเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ เพื่อความมั่นคง ก้าวหน้า ตามด้วย 19.73% เห็นว่าจะอยู่พรรคใด ขอให้ตั้งใจทำงาน พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น, 14.92% เห็นว่าอาจมีปัญหาภายในพรรค ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ไม่อยากอยู่ และ 9.61% เห็นว่าเป็นประเด็นทางการเมือง ทำให้ตื่นตัว อยากรู้ อยากติดตามข่าว
โดยประชาชน 51.04% เห็นว่าการย้ายพรรคมีผลต่อการเลือก ส.ส.เพราะกระทบต่อความรู้สึก ความเชื่อมั่น เชื่อใจลดลง พิจารณาจากพรรคที่ชอบ แต่ละพรรคมีนโยบายแตกต่างกัน ฯลฯ ขณะที่ประชาชนอีก 48.96% เห็นว่าไม่มีผล เพราะพิจารณาที่ตัวบุคคล ยังชอบเหมือนเดิม ดูจากผลงานที่ผ่านมา ความรู้ความสามารถ อยู่พรรคไหนก็ทำงานได้ ฯลฯ
เมื่อ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกครั้งที่แล้วย้ายพรรคแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชน 54.06% ก็ยังเลือกผู้สมัครคนนั้นเป็น ส.ส.อีก เพราะชื่นชอบเหมือนเดิม การย้ายพรรคเป็นเหตุผลส่วนตัว พิจารณาจากผลงานที่ผ่านมา ทำงานดี ดูแลประชาชน ฯลฯ แต่ประชาชนอีก 45.94% เห็นว่าไม่เลือก เพราะชอบพรรคเดิม นโยบายไม่เหมือนกัน ขาดอุดมการณ์ ไม่มีจุดยืน ความเชื่อมั่นลดลง ฯลฯ
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.ที่ต้องตัดสินใจเลือกเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก่อนที่วันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้มีคุณสมบัติครบ 90 วันก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือน ก.พ.62 โดยมีประชาชนทั่วประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 1,180 คน ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมที่ผ่านมา