กกต. เผยส่งปฏิทินเลือกตั้งให้ ครม.แล้ว คาดเปิดรับสมัครส.ส. 14-18 ม.ค.62, สรุปบัตรเลือกตั้ง 19 ธ.ค.นี้

ข่าวการเมือง Tuesday December 11, 2018 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมพว่า ตามปฏิทินเลือกตั้งที่ กกต.เห็นชอบและส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว หาก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ม.ค.62 กกต.จะสามารถประกาศวันเลือกตั้งในวันที่ 4 ม.ค.62 ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นวันที่ 24 ก.พ.62

"ขณะนี้ กกต.ได้เห็นชอบปฏิทินเลือกตั้งและส่งให้ ครม.แล้ว ซึ่งกำหนดเวลาจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย" นายณัฏฐ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า กกต.จะเปิดรับสมัครในวันที่ 14-18 ม.ค.62 โดยแต่ละจังหวัดไม่ว่าจะมีกี่เขตเลือกตั้งก็จะมารวมกันจุดเดียว ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกเขต และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 10-24 ม.ค.62

"การลงทะเบียนต้องเสร็จก่อนการเลือกตั้ง 30 วัน เพื่อให้สัมพันธ์กับการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง" นายณัฏฐ์ กล่าว

ส่วนรูปแบบบัตรเลือกตั้งคาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มพิมพ์ได้ในวันที่ 20 ธ.ค.61 โดยโรงพิมพ์มีความสามารถในการผลิตบัตรเลือกตั้งได้ 52-55 ล้านใบ ซึ่งดำเนินการได้ทันเวลาแน่นอน

นายณัฏฐ์ กล่าวว่า การจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปแต่ละเขตเลือกตั้งทั้งในประเทศ 9.6 หมื่นหน่วย และนอกราชอาณาจักรจะมีระบบ GPS ติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการสูญหาย โดยในต่างประเทศจะมีประเทศที่เป็นศูนย์กลางในการเก็บบัตรเลือกตั้งสำรองในกรณีฉุกเฉิน

สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในประเทศนั้น กกต.จะจัดส่งหนังสือถึงเจ้าบ้านเพื่อแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พร้อมข้อมูลผู้สมัครแต่ละเขต พร้อมทั้งเปิดแอพพลิเคชั่นให้ผู้สิทธิ์เลือกตั้งสามารถโหลดดูข้อมูลดังกล่าวได้เช่นกัน นอกจากนี้ กกต.จะติดข้อมูลผู้สมัครไว้หน้าคูหาเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกดปัญหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาเบอร์ผิด

สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะเปิดให้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนช่วงวันที่ 4-16 ก.พ.62

นายณัฏฐ์ กล่าวว่า กรณีหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องกาหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศนั้น เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองสามารถตกลงกันเองได้ เพราะกฎหมายให้กำหนดเบอร์ผู้สมัครเรียงไปตามลำดับที่มาสมัคร แต่ถ้ามาถึงก่อนเวลาแล้วตกลงกันไม่ได้ ให้ใช้วิธีจับสลาก ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าในแต่ละเขตจะมีผู้สมัครราว 60 คน

"ถ้าพรรคการเมืองตกลงกันได้ก็มาบอก กกต. แต่ก็ยังมีปัญหาพรรคที่ส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขตกับพรรคที่ส่งไม่ครบ 350 เขต บัตรเลือกตั้งก็จะมีปัญหาฟันหลอ ก็จะมาโทษว่า กกต.บริหารจัดการไม่ได้" นายณัฏฐ์ กล่าว

นายณัฏฐ์ กล่าวว่า สำหรับการหาเสียงของพรรคการเมืองนั้น ที่ผ่านมาก็ได้มีการหาเสียงกันอยู่แล้วแม้จะยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป จะเริ่มคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทันที และคาดว่าหลังปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น.แล้ว จะสามารถรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้ไม่เกินเวลา 22.00 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ