นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งว่า ขณะนี้รัฐบาลพิจารณร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ส่งมาให้รัฐบาลแล้ว และกำลังรอจังหวะเวลาเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะประกาศออกมาเมื่อไร ซึ่งตามกรอบเวลาต้องออกพระราชกฤษฎีกาไม่ช้ากว่า 90 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับ และเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งแล้ว จากนั้นภายใน 5 วัน กกต. จะกำหนดข้อบังคับระเบียบต่างๆ ทั้งวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และสถานที่รับสมัคร ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ
ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องบัตรเลือกตั้งที่ กกต.จะสอบถามพรรคการเมืองในวันที่นัดพูดคุยกันในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ไม่ขอแสดงความเห็นและเรื่องนี้อยู่ที่ กกต.จะเป็นผู้กำหนด
ส่วนหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งแล้ว นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไปนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ปฏิบัติตัวได้ตามปกติ และหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการเสนอชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ก็ยังปฏิบัติตัวได้ตามปกติเหมือนกับทุกคนที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่ถ้าในเวลาราชการก็ไม่สมควรที่จะช่วยหาเสียง และมีโอกาสเสี่ยงมีความผิดหลายอย่าง
"พล.อ.ประยุทธ์ ท่านมีตำแหน่งเป็นข้าราชการอยู่ เพราะฉะนั้นในฐานะความเป็นข้าราชการนั้น มันมีกฎหมายที่ต้องกำหนดว่าต้องเป็นกลาง อย่าว่าแต่กรณีของนายกรัฐมนตรีเลย แม้แต่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็จะต้องวางตัวอย่างเดียวกัน แม้แต่คนที่สมัครก็ต้องวางตัวอย่างเดียวกัน ถึงต้องแบ่งเรื่องในเวลา และนอกเวลาออกไป" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนในอดีตที่นายกรัฐมนตรีคนก่อนหาเสียงได้นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นผู้สมัครในบัญชีรายชื่อที่ประชาชนต้องเป็นผู้เลือก แต่กรณีผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่มีใครไปเลือก เป็นเรื่องที่พรรคเสนอเพื่อที่จะเป็นพันธะว่าในสภาผู้แทนฯ จะเสนอชื่อนี้เท่านั้น จึงไม่ควรไปช่วยหาเสียง ส่วนจะผิดอะไรนั้น ตนบอกพล.อ.ประยุทธ์เองจะดีกว่า
สำหรับกรณีที่พรรคการเมืองจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ในนโยบายพรรคได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่การแก้ไขนั้นจะเป็นเรื่องยุ่งยาก
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาจะมีการประกาศในราชกิจจานุเษกษา ซึ่งทุกอย่างก็เป็นการดำเนินการตามขั้นตอน ก็ขอให้รอติดตาม
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้ทาบทามให้ตนเองเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค เพราะทางพรรคก็ออกมาชี้แจงว่าเมื่อถึงเวลาจะเชิญตนเอง แต่เมื่อถึงเวลานั้นจะรับหรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้
ส่วนกรณีที่หลัง คสช.ปลคล็อกทางการเมืองแล้ว เริ่มมีการเตรียมชุมนุมนั้น ในส่วนของรัฐบาลยึดหลักการการรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งก่อนการเลือกตั้ง ช่วงที่มีการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดมีกฏหมายที่ใช้ดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะดำเนินกา แต่เชื่อว่าประชาชนมีความเข้าใจและรู้ข้อเท็จจริงมากขึ้นว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองมีความสงบสุขมากยิ่งขึ้น ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง ขณะที่เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้บังคับใช้กฏหมายที่มีอยู่ตามปกติ
ทั้งนี้ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ต้องเตือนไว้ก่อน แต่ไม่ใช่เรื่องของการข่มขู่ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการยกเลิกคำสั่ง คสช.เป็นการแสดงให้เห็นว่า ได้เปิดเสรีภาพให้ดำเนินการได้อย่างอิสระ ทุกคนควรจะรู้ว่าบ้านเมืองอยู่ในห้วงเวลาใด จึงขออย่านำเรื่องบุคคลอื่นมาเกี่ยวข้องกับตนเอง
ส่วนที่พรรคการเมืองมีนำเสนอนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการให้ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามกับคนที่เสนอนโยบายว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ กว่าจะมีรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติต้องผ่านสิ่งต่างๆ และรัฐธรรมนูญเองก็เพิ่งประกาศใช้ ขณะที่ยุทธศาสตร์ยังไม่ได้เริ่ม
"จะเห็นได้ว่ามีความยากลำบากกว่าจะออกเป็นกฏหมายได้ แล้วจะมายกเลิกก็คงต้องเป็นเรื่องของประชาชน ที่จะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างไร ถ้ามองว่าไม่เป็นประโยชน์ ตนเองก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เรื่องเหล่านี้ถือเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกก็ทำกัน" นายกรัฐมนตรีระบุ