5 แกนนำพรรคการเมืองใหญ่ เปิดมุมมองเศรษฐกิจ-การเมืองไทย หลังเลือกตั้งปี 62 มองเป็นได้ทั้งจุดจบ-จุดเริ่มต้น

ข่าวการเมือง Friday December 14, 2018 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในเวทีสัมมนาหัวข้อ "SMART OUTLOOK เศรษฐกิจ การเมืองไทย หลังการเลือกตั้ง"ว่า การเลือกตั้งปี 62 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แต่จะเป็นแค่การเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์การยึดอำนาจด้วยกำลังไปสู่การยึดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ หรือที่เรียกกันว่า "การสืบทอดอำนาจ" มากกว่า

"การเลือกตั้ง ปี 62 จะเป็นการเลือกตั้งภายใต้ประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ เพราะผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะควบคุมการเลือกตั้งยังเป็น คสช. ไม่ใช่ กกต. และมาตรา 44 ก็ยังอยู่ตลอดการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกประธานสภา การเลือกนายกฯ ไปถึงการตั้ง ครม. จะพ้นต่อเมื่อรัฐบาลใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเท่านั้น" นายจุรินทร์ กล่าว

พร้อมระบุว่า สภาวการณ์เช่นนี้ยังจะอยู่ต่อไปอย่างน้อย 8 ปี หรือ 2 รัฐบาลเป็นอย่างน้อย เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญบังคับไว้ 5 ปี ซึ่งไม่ใช่บังคับเฉพาะเลือกตั้ง ปี 62 ครั้งนี้เท่านั้น แต่ยังบังคับไปถึงการเลือกตั้งครั้งถัดไปหลังจาก 4 ปี ของสภาชุดปี 62 อีกด้วย ซึ่งเลือกตั้งครั้งถัดไปหากอยู่ครบ 4 ปี ก็เท่ากับว่าสภาวการณ์ครึ่งใบยังสามารถอยู่ต่อไปได้ถึงอย่างน้อย 8 ปีนั่นเอง นอกจากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญนี้กำหนดเงื่อนไขให้แก้ยากยิ่ง นอกจากใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาแล้ว ยังต้องเห็นฟ้องต้องกันระหว่าง ส.ส. รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา อีกทั้งยังต้องทำประชามติอีกด้วย การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญนี้ จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง

ส่วนคำถามที่ว่าการเลือกตั้ง ปี 62 จะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างประเทศหรือขั้นตอนใหม่ของความขัดแย้งที่สั่งสมมาตลอด 4 ปีนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นได้ทั้ง 2 อย่าง หากเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย การสร้างประเทศก็เริ่มต้นได้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่ คสช.บังคับไว้ ไม่เช่นนั้นจะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีโทษทางอาญา ส่วนจุดเริ่มต้นความขัดแย้งใหม่จะเกิดได้เมื่อมีการบังคับเลือกข้าง ข้างแพ้ไม่ยอมรับ หรือการเลือกตั้งไม่ยุติธรรม มีการโกงเลือกตั้ง ใช้อำนาจรัฐเอื้อบางพรรคการเมืองสู่การสืบทอดอำนาจ ซึ่งอาจนำไปสู่การปะทุความขัดแย้งถึงขั้นเกิด "พฤษภาทมิฬ ภาค 2" ได้

ส่วนคำถามเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจฝืดเคือง รวยกระจุกจนกระจายนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทุกคำถามที่ถามเป็นจริงทุกข้อเพราะนโยบายที่ผิดทางของรัฐบาล ทั้งนโยบายประชารัฐที่เอื้อทุนใหญ่ไม่กี่ราย และนโยบประชานิยมเรียกพี่ ที่มุ่งแต่ลด แลก แจกปลาอย่างเดียว นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวขึ้นจน "เครดิต สวิส" จัดลำดับไทยเป็นประเทศเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก และแม้รัฐบาลจะออกมาโต้ว่าใช้ฐานข้อมูลเก่าปี 49 เป็นฐาน แต่รัฐบาลกลับไม่บอกว่าตัวเลขการถือครองทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งของคนรวยสุด 1% ของประเทศไทยที่ถือครองความมั่งคั่งสูงถึง 66.9%นั้น "เครดิต สวิส" ใช้ตัวเลขการถือครองทรัพย์สินที่นิตยสาร Forbes ประเมินทุกปีรวมถึงปี 2018 นี้ด้วย

สำหรับโครงการ EEC ที่รัฐบาลนี้ใช้หาเสียงก็เป็นความต่อเนื่องจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น พร้อมมองว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ผิดทาง เพราะนโยบายประชารัฐเอื้อทุนใหญ่ และเสียหายหนักกว่านโยบายประชานิยม ซึ่งการดำเนินการไม่เหมาะกับช่วงเวลา คิดว่ารัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ และรัฐบาลนี้ไม่รู้จักประชาชน

"จริงอยู่ที่รัฐบาลนี้มาตอนที่เกิดความขัดแย้ง แต่เดี๋ยวนี้กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง" นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มีกลไกอีกมากที่ไม่ขัดต่อข้อตกลงที่มีต่อนานาชาติ ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการตามความเหมาะสม เพราะหากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล สิ่งหนึ่งที่ ปชป.จะดำเนินการคือ การประกันรายได้

นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการเมืองที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นายจุรินทร์ กล่าวว่า คนที่จะบอกได้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล คือ ประชาชน ซึ่ง ปชป.คงไม่ต้องไปประกาศว่าจะไม่เอาใคร ขอประกาศแค่ว่าสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร 376 เสียง และในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ได้บังคับให้เลือกข้างว่าจะเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นหลังเลือกตั้งปัญหาความขัดแย้งจะไม่จบ

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธ์ ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศจะล้าหลังไป 5-20 ปี เพราะผู้นำขาดวุฒิภาวะ ต้องมีปัญญาเป็นอาวุธ ไม่ใช่ถืออาวุธแต่ไม่มีปัญญา หลังเลือกตั้งจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ, รัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

"การที่บ้านเมืองสงบ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนอยู่ดีกินดี ถ้าเป็นอย่างนั้น พม่าก็มีความสงบมานานกว่า 40 ปีแล้ว หลังเลือกตั้ง แม้มีความไม่สงบเกิดขึ้น แต่ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น" นายพิชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นรัฐบาลอีก การบริหารประเทศก็คงเห็นผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เกิดปัญหารวยกระจุกจนกระจาย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ที่ผ่านการทำประชามติมานั้น มีคนน้อยนักที่จะได้อ่านให้เข้าใจ และหวังเพียงให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมาน่าจะสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน จึงอยากจะขอร้องให้ผู้ที่มีส่วนดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม

"อะไรมันจะเกิดก็เกิดไป เพราะเป็นการตัดสินใจของประชาชนแล้ว และเชื่อว่าไม่สามารถที่จะปิดหูปิดตาประชาชนได้" นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมเห็นว่า โครงการที่รัฐบาลนี้กล่าวอ้างไม่ได้เริ่มต้นในรัฐบาลนี้ และเห็นด้วยที่จะให้ประชาชนตัดสินใจ ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่อย่าให้มีกระบวนการใดๆ ที่ทำให้เห็นถึงความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ เหตุเพราะทนไม่ไหว และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีการโกงมากสุด มีการดูดตัว ส.ส., การใช้งบซื้อเสียง, การตัดหนทางทำมาหากินของคนยากจน เหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่มีการตั้งพรรคทหารเพื่อสืบทอดอำนาจ และมีบทพิสูจน์แล้วว่าการรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น แก้ปัญหาความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ แก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ ถ้าแก้ได้ประเทศไทยต้องก้าวหน้ามากกว่านี้ เพราะมีการรัฐประหารมากสุด ช่วงที่ผ่านมาที่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นการกดขี่

"ความขัดแย้ง แก้ไม่ได้ด้วยผู้ขัดแย้ง วงจรรัฐประหารเป็นการตัดตอนประชาธิปไตย ซึ่งต้องยกเลิกได้แล้ว เพราะเป็นพันธนาการความก้าวหน้าของประเทศ" นายธนาธร กล่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปได้ทั้งจุดจบหากมีการสืบทอดอำนาจต่อไปที่เป็นกึ่งเผด็จการและกึ่งประชาธิปไตย หรือการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องความขัดแย้ง พยายามเรียกร้องให้ประชาชนจำนนต่ออำนาจเผด็จการ ดังนั้นต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช., แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกลไกที่ คสช.วางไว้จึงจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยได้

"ที่บ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ เพราะมีนักการเมืองที่อิงแอบกับเผด็จการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หนทางแก้ปัญหาต้องผ่านระบบรัฐสภาเท่านั้น" นายธนาธร กล่าว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการบริหารและโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นความหวังของประชาชน ตนเองเชื่อว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน และให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเลือกทางเดิน

ส่วนการตัดสินใจทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งทาง พปชร.ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องการเสนอชื่อเป็นนายกฯ เพราะมีขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งในที่สุดคนที่จะตัดสินใจเลือกทางเดินของประเทศคือประชาชน

สำหรับปัญหาเศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเสียโอกาสจากความขัดแย้งไปนับ 10 ปี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาไปมาก กว่าจะพลิกฟื้นกลับมาได้ถึงปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ได้อนุมัติรถไฟทางคู่แล้ว 2 พันกิโลเมตร ซึ่งจะผลิดอกออกผลในวันข้างหน้า ส่วนปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้า ส่วนหนึ่งมาจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลก เช่น ราคายางพาราที่ตกต่ำ หากเทียบกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมาถือว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเยอะ

"จริงอยู่ที่โครงการต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ แต่หลายเรื่องที่สำเร็จในรัฐบาลนี้" นายกอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับการตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองครั้งนี้ เป็นเรื่องลำบากใจพอสมควร และคงไม่มีใครอยากให้บ้านเมืองกลับไปสู่วังวนเดิมที่มีความขัดแย้ง ขณะที่มีอดีตนักการเมืองที่ย้ายมาจากพรรคการเมืองอื่น เพราะต้องการทำการเมืองใหม่ ที่สามารถทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่นได้

ส่วนการร่วมรัฐบาลนั้น พปชร. จะพิจารณาว่าพรรคการเมืองใดที่จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปได้ และการประกาศรายชื่อนายกฯ นั้นยังมีเวลาในการพิจารณา โดยพร้อมสนับสนุนทุกคนที่ไม่มีความขัดแย้งให้เป็นนายกฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ