นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงผลการประชุมหารือระหว่าง กกต., พรรคการเมือง และสื่อมวลชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ว่า เบื้องต้นยังเป็นเพียงการรับฟังความเห็นของทุกพรรคการเมือง ซึ่งจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.อีกครั้ง เพื่อออกเป็นระเบียบปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่อีก 8 ฉบับ คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนช่วงปีใหม่ โดยยืนยันว่าการจัดทำระเบียบนั้นไม่มีผลให้ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เพราะหน้าที่ของ กกต.จะต้องทำงานให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กฎหมายระบุไว้
ทั้งนี้ ประเด็นหารือ มีทั้งเรื่องการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่ละคน 2 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ส่วนการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองนั้น มีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ซึ่ง กกต. จะนำความเห็นที่ได้รับไปประมวล และสรุปต่อไป โดยจะต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
สำหรับการหาเสียงด้วยรถแห่ขยายเสียง หรือโมบายยูนิตนั้น กกต.จะนำประเด็นเรื่องการติดป้ายหาเสียงผ่านรถโดยสารสาธารณะไปพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่
ส่วนการกำหนดขนาดของป้ายหาเสียงนั้น ประธาน กกต.ยืนยันว่า ได้มีการกำหนดขนาดแผ่นป้ายมาตรฐานกระดาษ A3 ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งป้ายหาเสียงจะสามารถมีรูปถ่ายของใครได้บ้างนั้น มีการพรรคการเมืองเสนอให้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อที่เป็นที่รู้จักของพรรค หัวหน้าพรรค และบุคคลสำคัญของพรรค
อย่างไรก็ตาม ประธาน กกต. มองว่า ในป้ายควรจะเป็นผู้สมัครส.ส.ในเขตนั้นเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ส่วนจะมีภาพบุคคลอื่นในป้ายจะทำได้หรือไม่นั้น มองว่า ต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นสมาชิกพรรคเป็นหลัก
ส่วนจำนวนป้ายหาเสียงนั้น พรรคการเมืองมีความเห็นหลากหลาย ทั้งเห็นว่าจำนวนที่ กกต.กำหนดไว้มีความเหมาะสมแล้ว หรือมีการเสนอให้ลดจำนวนป้ายหาเสียงลง ขณะที่ก็มีการให้เพิ่มจำนวนป้ายด้วย เนื่องจากมีการแบ่งเขตใหม่ จากเดิมมีเขต 375 เขต ปรับมาเป็น 350 เขต จึงต้องพิจารณาว่าจะติดป้ายประกาศหาเสียงอย่างไรให้เพียงพอกับขนาดเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงการกำหนดสถานที่ปิดประกาศป้ายหาเสียง ซึ่ งกกต.มีการหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร
ส่วนการหาเสียงผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น กกต.มีความเห็นว่า หากมีการนำหุ่นยนต์มาช่วยหาเสียงสามารถทำได้ เพราะถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นสีสันในการหาเสียงในครั้งนี้
ส่วนกรณีหาเสียงทางโซเชียลมีเดียที่ผู้สมัครต้องแจ้งให้ กกต.ทราบก่อนนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการขออนุญาต แต่แจ้งให้ทราบถึงวิธีการให้การหาเสียงว่าจะใช้รูปแบบใด อย่างไร เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือการกล่าวร้ายป้ายสีผ่านทางโซเชียล
ทั้งนี้ พรรคการเมืองต้องการให้ กกต. ตั้งวอร์รูมขึ้นมาติดตามและตรวจสอบการแสดงความคิดเห็น และ account ปลอมที่อาจจะสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม รวมถึงเพื่อเป็นช่องทางที่ให้พรรคการเมืองสามารถแจ้งมายังกกต.ได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการตั้งวอร์รูมจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำหน้าที่ร่วมกับกกต.ด้วย
ประธาน กกต. ยังกล่าวถึงการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศว่า ทาง กกต.ไม่ปิดกั้นการเข้ามาของผู้สังเกตการณ์ ซึ่งจะใช้ตามแนวทางปฏิบัติตั้งแต่ปี 2546 แต่ผู้ที่จะเข้ามาสังเกตการณ์ต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฏหมายของประเทศไทย ซึ่งหากมีมากกว่านั้นก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป