เลือกตั้ง'62:ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจส่วนใหญ่เป็นพลังเงียบ แนะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลอย่าเอารัดเอาเปรียบพรรคอื่น

ข่าวการเมือง Sunday December 23, 2018 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เกาะติดเสียงประชาชนคนจะเลือกตั้ง โดยเมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของคนตอบแบบสอบถาม พบว่า เกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 28.8 สนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 13.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 57.9 ระบุเป็นพลังเงียบ และเมื่อจำแนกกลุ่มคนตอบแบบสอบถามออกเป็นคนมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครและคนมีสิทธิเลือกตั้งในต่างจังหวัด พบว่า คนมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครร้อยละ 29.2 สนับสนุนรัฐบาล เทียบกับคนมีสิทธิเลือกตั้งในต่างจังหวัดร้อยละ 28.6 ที่สนับสนุนรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 11.7 ของคนมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครไม่สนับสนุนรัฐบาล เทียบกับคนมีสิทธิเลือกตั้งในต่างจังหวัดร้อยละ 14.2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล นอกจากนี้ส่วนใหญ่ทั้งคนมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด คือ ร้อยละ 59.1 และร้อยละ 57.2 ระบุเป็นพลังเงียบยังไม่ตัดสินใจจุดยืนการเมือง

ที่น่าสนใจคือ พรรคการเมืองที่คนตอบแบบสอบถามจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 38.3 ระบุจะเลือกพรรคเพื่อไทย รองลงมาคือร้อยละ 24.4 จะเลือกพรรคอนาคตใหม่ และร้อยละ 22.8 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้นจะเลือกพรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 9.8 จะเลือกพรรคอื่น ๆ และที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกเป็นกลุ่ม ๆ คือ กลุ่มคนมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร และ กลุ่มคนมีสิทธิเลือกตั้งในต่างจังหวัด พบว่า ทั้งคนกรุงเทพมหานคร และ คนต่างจังหวัด ตั้งใจจะเลือกพรรคเพื่อไทย สูงกว่าทุกพรรค คือ คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 31.9 จะเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 42.1 ของคนต่างจังหวัดจะเลือกพรรคเพื่อไทยเช่นกัน ในขณะที่ คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 27.8 และคนต่างจังหวัดร้อยละ 19.8 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และที่น่าพิจารณาคือ พรรคอนาคตใหม่ พบคนตอบแบบสอบถามที่มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครร้อยละ 29.2 จะเลือกพรรคอนาคตใหม่ และ ร้อยละ 21.5 ของคนตอบที่มีสิทธิเลือกตั้งในต่างจังหวัดจะเลือกพรรคอนาคตใหม่เช่นกัน

ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ด้วยการใช้หลัก Net Assessment เกาะติดเสียงของประชาชนชี้ให้เห็นว่า ประชาชนคนไทยอยู่กับข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในยุค Super Digital ประชาชนแต่ละคนสามารถเป็นทั้งเครื่องรับและเครื่องส่งสัญญาณมีพลังตอบโต้ทางความคิด ทัศนคติและพฤติกรรม ออกสื่อของตนเองได้ ดังนั้น จุดต้องปรับแก้ของบางพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลคืออย่าเอารัดเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น อย่าใช้อำนาจรัฐและงบประมาณรัฐแสวงหาผลประโยชน์เอาเปรียบคู่แข่งทางการเมืองเพราะรัฐบาลปัจจุบันและ คสช.เข้ามาด้วยการสนับสนุนจาก สาธารณชนว่าเป็นกลางทางการเมืองเข้ามาด้วยจิตอาสาเสียสละเพื่อรักษาชาติบ้านเมืองและประชาชนไม่ให้เกิดการสูญเสีย "คำถามคือ คนมีอำนาจคิดทำอะไรตอนนี้มีข้อมูลแม่นยำเข้าถึงประชาชนดีแล้วหรือ เพราะเป็นห่วงว่าฐานสนับสนุนของรัฐบาลและ คสช. ที่เคยได้รับมากกว่าร้อยละ 80 ในตำรามติมหาชน (Public Opinion) ถือว่า ตอนนั้น คิดทำอะไรย่อมได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนจนฝ่ายตรงข้ามทำอะไรไม่ได้ แต่วันนี้ฐานสนับสนุนลดลงอยู่ในขอบเขตที่ล่อแหลมอาจเพลี่ยงพล้ำได้ แรงเสียดทานจึงเกิดขึ้นเกือบทุกสิ่งที่คิดทำ

"ดังนั้นคนของพรรคการเมืองใดในรัฐบาลควรลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วยเพราะอาจถูกมองว่าจะมาคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ถ้าฝืนทำแบบนี้ต่อไป น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า จะเหนื่อยเปล่าและอาจจะสูญเสีย"แก่นสาร" หรือ ภาษาปรัชญาเรียกว่า สารัตถะ เมื่อความมั่นคงของชาติบ้านเมืองสั่นคลอนและจะเหนื่อยกันอีกหลายเท่าตัว"นายนพดล กล่าว

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เกาะติดเสียงประชาชนคนจะเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 1,094 คน โดยดำเนินโครงการระหว่าง 10 – 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ