ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคเหนือ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดประชุมสัมมนาว่าที่ผู้สมัครสมาชิกาสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ ภาคเหนือว่า ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งใน 17 จังหวัดภาคเหนือนั้น มีการเตรียมการมานานพอสมควร ซึ่งสังเกตได้จากผู้สมัครแต่ละเขตเป็นผู้มีประสบการณ์ โดยเฉพาะว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ทั้ง9เขต ล้วนมาจากบุคคลหลากหลายอาชีพที่อาสาเข้ามาเป็นผู้สมัครของพรรค ดังนั้นตนมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งในหลายเขต
ทั้งนี้จากประสบการณ์ผู้สมัครของพรรคหลายคนมาจากพรรคเพื่อไทย ทำให้รู้ยุทธศาสตร์การหาเสียงของคู่ต่อสู้จากพรรคอื่นๆ ประกอบกับประสบการณ์ของผู้สมัครแต่ละท่าน ที่ผ่านมาเราทำการบ้านไม่ได้เกาะกระแสข่าวของพรรค และพรรคเพิ่งเปิดตัวมาเพียง 2 เดือน แต่ผู้สมัครของพรรคอื่นกลับเกาะกระแสของพรรคโดยไม่ได้คลุกคลีกับพี่น้องประชาชนเหมือนพรรคเรา ซึ่งเข้าถึงง่ายและอยู่กับประชาชนมาตลอด ทั้งๆที่ไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พรรคมีนโยบายชัดเจนว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้คนไทยทั้งชาติตัดสินใจกำหนดอนาคตของประเทศที่ตกอยู่ในหลุมดำของความขัดแย้งในสังคมตั้งแต่ปี 2548-2557 สังคมไทยเกิดความแตกแยกและเป็นตราบาปที่ตกสู่ลูกหลานของเรา ดังนั้น พปชร.ชื่อบอกอยู่แล้วว่า เป็นพลังของพี่น้องประชาชนทั้งชาติ บวกกับรัฐบาลที่จะอยู่ด้วยกัน เพื่อเดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้งนำความมั่งคั่งสู่ประชาชนอย่างยั่งยืน
ส่วนจะได้กี่ที่นั่งในภาคเหนือนั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนไม่ได้เข้าข้างตัวเอง แต่เชื่อว่าผลโพลจากหลายสำนักใน17จังหวัด 62 เขต จะได้ทั้งหมด 38 เขต และอยู่ระหว่างการต่อสู้อีกหลายที่นั่ง ดังนั้นจึงเป็นงานหนักที่พวกตนจะต้องทำการบ้าน และจากนี้ไปจะต้องคัดเกรดผู้สมัคร เพื่อผลักดันให้เป็น ส.ส.ให้ได้ ส่วนคะแนนของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ยังไม่ได้พิจารณา
สำหรับกระแสข่าวโจมตีการจัดงานโต๊ะจีนเพื่อระดมทุนของพรรคนั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคในฐานะแม่งาน ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งเรามีเวลาในการชี้แจงรายชื่อผู้สนับสนุนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เป็นระยะเวลา1เดือน อย่างไรก็ตามตนไม่มั่นใจว่าเงินที่ได้จากการระดมเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่ทราบว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้สนับสนุนที่มองว่าพรรค พปชร.เป็นทางเลือกใหม่ของคนไทย ซึ่งหากพรรคไม่ชนะการเลือกตั้งก็คงไม่กล้ามาลงทุน
"วาทกรรมว่า อาหารคำละ3,000บาท หรือ มื้อละ 300,000 บาท ไม่ใช่เป็นการเอาอาหารมาขาย ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่อาหาร เราก็รู้อยู่ว่าอาหารไม่ได้ราคาแพงอย่างนั้น เป็นเพียงแค่วาทกรรมทางการเมืองที่ผู้สนับสนุนระดมทุนเข้าพรรคฯไม่ใช่การซื้ออาหาร ดังนั้นกระแสที่ถูกโจมตีในการเวลานี้ เชื่อว่า ไม่มีผลกระทบต่อกระแสความนิยมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และผู้บริหารพรรคฯแต่ละท่านมีประสบการณ์ทางการเมือง การตัดสินใจจะทำอะไรในแต่ละครั้ง เราต้องไตร่ตรองและประชุมกันอยู่แล้วว่า จะไม่ทำอะไรที่ละเมิด หรือ ผิดกฏหมายเลือกตั้งของ กกต. ผมมั่นใจว่า พรรคชี้แจงได้" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว