นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย(ทรท.) ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า พรรคพลังประชาชน(พปช.) ควรยึดมั่นในระบบและหลักการที่ว่าผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคซึ่งได้คะแนนเสียงข้างมากและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลควรจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากเป็นเรื่องที่พรรค พปช.ได้เคยให้สัญญาประชาคมไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ชูนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้า พปช.เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นในสายตาประชาชนและต่างชาติได้
"พรรคพลังประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนทำหน้าที่หัวหน้าพรรคได้อีกแล้ว เพราะได้ทำสัญญาประชาคมกับประชาชนเอาไว้ ถ้าผิดสัญญาก็ถือว่าจะเสียหายต่อการจัดตั้งรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนเอง" นายจาตุรนต์ ระบุ
ส่วนที่มีการหยิบยกเอาคุณสมบัติด้านลบของนายสมัคร ตลอดจนปัญหาคดีที่คั่งค้างมาเป็นเหตุผลที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ไม่เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายจาตุรนต์ เห็นว่า หากจะยกเหตุผลดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างก็ควรจะพูดเรื่องนี้ก่อนที่จะเชิญนายสมัคร มาเป็นหัวหน้าพรรค พปช.แล้ว
พร้อมเห็นว่าพรรค พปช.ไม่ควรเจรจาต่อรองกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงใดทั้งสิ้น แต่หากมีการเจรจาจริงจะทำให้รัฐบาลขาดความสง่างาม เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ส่วนกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยให้พรรค พปช.กับพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เป็นรัฐบาลร่วมกันนั้น นายจาตุรนต์ มองว่ามีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพรรค ปชป.ได้ประกาศจุดยืนมาตลอดว่าจะไม่ร่วมงานทางการเมืองกับ พปช. อีกทั้งยังเคยประกาศว่าในการเลือกตั้งสมัยหน้าจะพยายามทำให้ได้ที่นั่งเกิน 300 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
"เรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ตามความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากประชาธิปัตย์ประกาศมาโดยตลอดว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับพลังประชาชน ซึ่งไม่มีทางเป็นได้เลยที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว 2 พรรคใหญ่มาร่วมกัน" นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ ยังเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ควรประกาศรับรองรายชื่อ ว่าที่ ส.ส.ให้ครบทั้ง 100% ก่อนการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพราะหากรับรองอย่างน้อย 95% เพื่อหวังเพียงให้เปิดสภาฯ ได้ทันวันที่ 21 ม.ค.แล้วค่อยไปสอยทีหลังนั้น จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลต่อการโหวตเลือกประธานสภาฯได้ เนื่องจากว่าที่ ส.ส.ที่เหลืออีก 5% ที่ กกต.ยังไม่ประกาศรับรองนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นว่าที่ ส.ส.จากพรรคพลังประชาชน
พร้อมกันนี้นายจาตุรนต์ ยังไม่เชื่อว่าคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี จะติดต่อพูดคุยกับผู้ใหญ่บางคนในบ้านเมืองเพื่อเจรจาเรื่องการเดินทางกลับประเทศไทยขอ งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากมองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกัน เพราะถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีสิทธิที่จะเดินทางกลับไทยได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่จำเป็นต้องพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในการกลับเข้าประเทศ เพราะถือว่า ผบ.ทบ.ไม่ได้มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไทยได้
--อินโฟเควสท์ โดย ฐานิสร์ ทองนอก/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--