นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงการหารือกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วานนี้ว่า ตนได้รายงานรายละเอียดให้ทราบแล้ว ซึ่งโดยสรุป รัฐบาลได้ยืนยันกับ กกต. เพื่อให้พิจารณาและวางเทียบวันกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยหากจะจัดการเลือกตั้งและหาเสียงก่อนงานพระราชพิธี ต้องไม่มีปัญหาต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้กำหนดการที่ชัดเจน การจัดการเลือกตั้ง ต้องเกิดก่อนงานพระราชพิธี เพราะต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือกิจกรรมหลังการเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีการประกาศผลการเลือกตั้งและจะกระทบกับช่วงพระราชพิธีหรือไม่ รวมถึงเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งต้องนำความกราบบังคมทูลฯเพื่อโปรดเกล้าฯ และต้องพิจารณาถึงการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก และจะตามมาด้วยการเลือกประธานสภาฯ และการจัดตั้งรัฐบาล
"พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้มีงานแค่ในช่วงวันที่ 4-6 พ.ค.เท่านั้น แต่จะมีการดำเนินงานต่างๆในช่วงก่อนและหลังงานพระราชพิธีอีกหลายขั้นตอน เช่น กิจกรรมสวดมนต์ กิจกรรมสาธารณะ ซึ่งทางรัฐบาลได้นำความกราบบังคมทูลฯไปก่อนหน้านี้ว่าจะมีการจัด และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัด โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้เตรียมการ ซึ่งเมื่อชี้แจงรายละเอียดต่างๆให้ กกต. ได้รับทราบแล้วก็ขึ้นอยู่กับ ทางกกต.จะพิจารณา"นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อได้หารือกันและเห็นว่าวันที่ 24 ก.พ. น่าจะมีปัญหา และในความเห็นส่วนตัวของตนก็เห็นว่าเป็นปัญหา จึงมองว่าหากจะเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นช่วงเดือนมีนาคมได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.จะไปพิจารณา โดยเห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรเลือกตั้งไม่เกินเดือนมีนาคม และต้องสามารถอธิบายกับสังคมได้
"ในทางปฏิบัติถ้าเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. กกต.ก็คาดว่า จะประกาศผลในวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งช่วงวันที่ 20-25 เม.ย. มีงานพระราชพิธีทั้งนั้น ซึ่งตรงนี้เห็นแล้วว่ากระทบ และหากจะขยับออกไปก่อน 24 ก.พ. ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าขยับไม่ได้ ถ้าขยับจาก 24 ก.พ.เดินหน้าต่อไป เป็นวันที่ 3 หรือ 10 มี.ค. ท่านต้องดูต่อไปว่า ถ้าประกาศผลการเลือกตั้ง 60 วัน จะไปเจอเอาวันไหน สมมติ ถ้าขยับไป 3 มี.ค. ก็จะไปเจอวันที่ 3 พ.ค. ในการประกาศผล ซึ่งตรงนั้นยังทำพระราชพิธีกันอยู่ ถ้าขยับอีกที เป็นวันที่ 10 มี.ค. ก็จะไปเจอวันที่ 10 พ.ค. ซึ่งก็เริ่มพ้นออกไปแล้ว แต่ถ้าขยับอีกที 17 มี.ค. ก็จะไปเจอ 17 พ.ค. หรือขยับไปเป็น 24 มี.ค. ก็จะไปเจอ 22-24 พ.ค.ซึ่งแม้ว่าจะขยับไปตรงกับช่วงวันที่ 3 พ.ค.วันที่ 10 พ.ค. วันที่ 17 พ.ค. ตรงนั้นยังมีกิจกรรมหลังงานพระราชพิธี ซึ่งถ้าหากขยับทั้งทีก็ควรขยับให้พ้นไปเลย สมมติถ้าวันเลือกตั้ง เป็นวันที่ 24 มี.ค. การประกาศผลที่ยาวที่สุด ก็จะเป็นวันที่ 22 พ.ค. พ้นพิธีทั้งหมด ทั้งพิธีของรัฐบาลและของประชาชน" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวถึง กรณีเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งว่าจะถือเป็นการเริ่มหาเสียงวันแรก และเป็นการเริ่มคิดค่าใช้จ่ายของทุกพรรคการเมือง จึงต้องให้เวลาในการหาเสียงให้เพียงพอ ไม่ว่าจะมีการปรับหรือเลื่อนการเลือกตั้งอย่างไรก็ตาม ซึ่งแม้ในขณะนี้ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมา แต่ต้องคำนึงถึงการให้เวลาหาเสียงไม่น้อยกว่า 52 วัน เพราะหากให้เวลาหาเสียงน้อยเกินไปก็จะเป็นปัญหาอีก
ส่วนกรณีที่บางฝ่ายคิดว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้กรณีงานพระราชพิธีมาเป็นเงื่อนไขเลื่อนเลือกตั้งนั้น นายวิษณุ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่า ไม่รู้ว่าจะอ้างเรื่องนี้เพื่อให้ใครได้ประโยชน์ เพราะรวมความแล้ว ไม่ได้จะทำให้อะไรเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะสามารถเข้าใจได้เอง