นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ 4 รัฐมนตรี ประกอบด้วย หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กรณีถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐเข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้เป็นกรณีเดียวกันกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ
สำหรับขั้นตอนต่อไปก็จะส่งเรื่องของ 4 รัฐมนตรีไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณา แต่เมื่อครั้งกรณีของนายดอน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
"ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาว่ากรณี 4 รัฐมนตรีนี้อย่างไร ต่อจากนี้ 4 รัฐมนตรีก็จะต้องยื่นหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ให้ศาลพิจารณาเพื่อเป็นการต่อสู้คดี ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน หรือไม่เกิน 1 เดือน" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้ง 4 รัฐมนตรีไม่เคยมาขอคำปรึกษาด้านข้อกฎหมายในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับนายดอนก็ไม่เคยมาปรึกษา ซึ่งไม่มีความจำเป็น และคงไปปรึกษาทีมงานของแต่ละคนเอง
กรณีดังกล่าวหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าดำเนินการผิด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะรับไปดำเนินการคดีต่อหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็น ซึ่งตามปกติการร้องเรื่องคุณสมบัติ เรื่องจะถูกส่งไปที่ กกต.แต่หากเป็นเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบก็จะส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ให้พิจารณา
ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ที่ประชุม กกต.ได้มีการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวนกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นสัมปทานรัฐของรัฐมนตรีทั้ง 4 ราย ซึ่งที่ประชุมมีมติว่า การถือครองหุ้นของทั้ง 4 รัฐมนตรีเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง และเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงาน กกต.ดำเนินการยกร่างคำร้อง ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาและประธาน กกต.ลงนาม เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการ
ส่วนกรณีก่อนหน้านี้ที่ กกต.เคยมีมติเสียงข้างมากชี้ว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาล พลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากคู่สมรสถือครองหุ้นในธุรกิจอยู่เกินกว่า 5% และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 เนื่องจากเห็นว่า คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้ดำเนินการโอนหุ้นภายในกำหนดเวลา 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้