เลือกตั้ง'62: 6 พรรคการเมืองดีเบตนโยบายสุขภาพ หนุนระบบหลักประกันสุขภาพ ชี้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

ข่าวการเมือง Friday January 11, 2019 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในงานเสวนามองไปข้างหน้า "พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน" ว่า ปชป.มองว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพเป็นระบบสวัสดิการสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่มีปัญหาระบบการเงินการคลัง เพราะทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับรัฐบาล ยังต้องตกลงเรื่องงบประมาณอุดหนุนจึงต้องปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม รวมถึงมาตรฐานบริการและคุณภาพของยาต้องเท่าเทียม ซึ่งควรเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในประกันสังคมมีสิทธิเลือกว่าจะใช้บริการประกันสังคม หรือใช้หลักประกันสุขภาพ แต่ค้านการรวม 3 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพ 2.กองทุนประกันสังคม และ 3.กองทุนรักษาข้าราชการ เพราะไม่แน่ใจว่าคุณภาพของคนที่จะบริหารระบบหลักจะดีขึ้นจริงหรือไม่ แต่ประเด็นหลัก คือต้องหาเงินมาสนับสนุนให้เพียงพอ ส่วนกรณีของโรงพยาบาลเอกชน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุงนอกเหนือจากการแจ้งราคาให้ทราบ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหลักประกันที่ต้องยึดถือไว้ เพราะเป็นหลักการที่ทำให้ประเทศเดินข้ามพ้นกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ ซึ่งหลักการนี้ ต้องการให้ประชาชนได้ทุกคน และทำให้ประชาชนมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น และเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยน พร้อมทั้งเห็นว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรเพิ่มเรื่องสุขศาลา และหมอครอบครัว

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการเปิดมิติใหม่ทางการเมืองที่จะทำให้ประชาชนสามารถจับต้องได้ ดังนั้นจึงต้องทำให้เกิดความถ้วนหน้าอย่างแท้จริงด้วยการควบคุมการจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ และไปเพิ่มงบประมาณในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีความแตกต่างกันอยู่มาก

แนวทางการพัฒนา ได้แก่ 1.การเสริมสร้างความรู้ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 2.การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบสาธารณสุข และ 3.นำโรงพยาบาลออกนอกระบบ เลิกการรวมศูนย์ เพื่อให้มีอิสระในการบริหารงาน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพ ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการของรัฐขั้นพื้นฐานที่ให้กับประชาชน แต่ไม่สามารถจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ในขณะนี้ เนื่องจากรัฐสวัสดิการก็ทำได้ไม่ง่าย เพราะจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึง 35-50% ซึ่งรัฐต้องมีเงินให้มากพอที่จะดูแลทั้งระบบ โดยสวัสดิการรัฐที่ใช้งบอยู่ขณะนี้แค่ 15-17% เท่านั้น

พร้อมระบุว่า ควรทำให้สิทธิจากทั้ง 3 กองทุนมีความใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่หากจะให้เท่าเทียมกันทั้งหมดนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อหลักการอื่น ๆ ขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านระบบสาธารณสุข จะต้องปรับเปลี่ยนการบริหารงานให้มีความสัมพันธ์กันตามความเป็นจริง รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพที่ดี ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย จึงเสนอแนวนโยบาย "รวยช่วยจน ดีช่วยป่วย" คือคนสุขภาพดีช่วยเหลือคนที่ป่วย คนที่รวยก็ไม่ต้องไปใช้บริการจากหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้การรักษาของคนจนมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงเป็นโจทย์ที่จะปรับเพื่อทำให้ 3 กองทุนมีเหตุมีผล

"เราต้องเตรียมพร้อมคนไทยหรือทุนมนุษย์ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีการพัฒนาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมาจนถึงโครงการบัตรทอง โดยจะต้องคำนึงว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงระบบอย่างถ้วนหน้า และเท่าเทียมกันด้วยความเป็นมาตรฐาน" นายสุวิทย์ระบุ

โดยสิ่งที่ต้องมองไปข้างหน้า คือ การขยายสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึง และหากใครต้องการสิทธิเพิ่มเติมก็สามารถซื้อประกันได้เอง ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการบริหารงาน

นพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพที่พบจากการลงพื้นที่ส่วนใหญ่มาจากสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งจะต้องแก้ไขในเรื่องของห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมและป้องกันแทนที่จะเป็นการรักษาอาการป่วยในภายหลัง ขณะเดียวกันต้องยกระดับมาตรฐานและความสามารถในการรักษาของสถานพยาบาลในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเดินทางมารักษาในส่วนกลาง

โดยเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่รัฐจะต้องลงทุนด้านสาธารณสุขเพิ่มเติม ทั้งการจ้างพยาบาล, ยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) การเสริมความรู้ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ