เลือกตั้ง'62: กกต.ชี้แจงกฎระเบียบ-วิธีปฎิบัติ หลังพ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศลงในราชกิจจาฯ

ข่าวการเมือง Wednesday January 16, 2019 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าว "กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา" โดยกล่าวว่า กกต.จะเริ่มคิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทันทีหลังจากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัครแบบแบ่งเขตไว้คนละ 1.5 ล้านบาท และแบบบัญชีรายชื่อพรรคละ 35 ล้านบาท โดยมีมาตรการควบคุมทั้งเรื่องขนาดและจำนวนป้าย ค่าใช้จ่ายกรณีใช้สื่อโซเชียล และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

"ระเบียบ กกต.ที่ออกมาค่อนข้างละเอียดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ช่วยลดปัญหาให้พรรคที่มีเงินน้อย" พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว

สำหรับมาตรการที่ภาครัฐจะสนับสนุนการหาเสียง ได้แก่ 1.การทำเอกสารรายละเอียดของแต่ละพรรคการเมืองส่งถึงเจ้าบ้านในเขตเลือกตั้งนั้นๆ 2.แผ่นป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ 3.แอพพลิเคชั่น "ฉลาดเลือก" 4.การจัดสรรเวลาเผยแพร่ทางทีวีและวิทยุ 5.การจัดเวทีดีเบตนโยบาย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ พรรคที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต 300-350 คน พรรคที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต 200-299 คน และพรรคที่ส่งผู้มัครแบบแบ่งเขตน้อยกว่า 200 คน

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การปิดป้ายหาเสียงจะมีการกำหนดพื้นที่ให้อย่างเป็นทางการ ไม่ได้ให้ปิดป้ายหาเสียงอย่างอิสระเหมือนในอดีต เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เป็นระเบียบเรียบร้อย และรายละเอียดในป้ายต้องเป็นภาพผู้สมัคร กรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค รายชื่อผู้ที่เสนอเป็นนายกฯ และนโยบายพรรคเท่านั้น

"ขอให้ทุกพรรคต้องระมัดระวังและเข้มงวดดูแลกันด้วย เพราะหากถูกคู่แข่งไปแจ้งความก็จะถูกดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ระเบียบ กกต.ยังกำหนดจำนวนผู้ช่วยหาเสียงไม่ให้เกินรายละ 20 คน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 3 ครั้งๆ ละไม่เกิน 1 ใน 3 เพื่อป้องกันการซื้อเสียงผ่านหัวคะแนน

ส่วนการหาเสียงทางโซเชียลนั้น ผู้สมัครจะต้องแจ้ง กกต.รับทราบ เพื่อป้องกันการแอบอ้าง ซึ่งหาก กตต.ตรวจพบจะแจ้งให้เจ้าตัวรับทราบเพื่อลบข้อมูล

ส่วนการเดินทางไปร่วมงานตามประเพณีนั้น ผู้สมัครจะต้องมีความระมัดระวัง เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดได้

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ไม่ได้มีการประสานกับรัฐบาลเรื่องการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามกระบวนการการจัดการเลือกตั้งจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 150 วันตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.62

ส่วนความคืบหน้ากรณีคุณสมบัติของ 4 รัฐมนตรีนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการยกร่างคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะส่งให้ประธาน กกต.ลงนามได้ภายในสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ