พรรคการเมืองนำเสนอมุมมองแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แนะขยายโอกาสทางการศึกษา ลดผูกขาด กระจายรายได้ และอำนาจไปต่างจังหวัดอย่างแท้จริง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทับซ้อนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งพรรคมีแนวทางแก้ไข 7 ประเด็น คือ 1.การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงการกระจายรายได้ ไม่ใช่ตัวเลขจีดีพี 2.การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม 3.แก้ไขปัญหาการผูกขาดทั้งในภาครัฐและเอกชน 4.การประกันรายได้ผลผลิตทางการเกษตร 5.จัดบริการพื้นฐานด้านการศึกษาและสาธารณสุข 6.ปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม และ 7.บังคับใช้กฎหมาย และดูแลการเมืองไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน
การพัฒนาด้านคมนาคม ต้องวางแผนกระจายเครือข่ายไปยังภูมิภาค และกระจายอำนาจไปต่างจังหวัดให้ตัดสินใจเอง แต่ต้องยอมรับว่าการจัดระบบขนส่งสาธารณะนั้นเป็นเรื่องยากที่จะคุ้มทุน ดังนั้นรัฐอาจต้องเข้าไปดูแลโดยหารายได้มาอุดหนุน
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า การพัฒนาประเทศจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเมื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกันมากที่สุด ซึ่งสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ได้ด้วยการขยายโอกาสทางการศึกษา และถึงเวลาที่ประชาชนคิดว่าใครที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหานี้
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากการขาดโอกาส ความไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้าง เพราะมีการผูกขาดไว้ในกลุ่มอำนาจเก่าเพียงกลุ่มเดียว หากแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้เลย
ส่วนการพัฒนาด้านคมนาคมนั้น เสนอให้มีการสร้างระบบขนส่งระบบรางเป็นหลัก แล้วเชื่อมโยงด้วยรถโดยสารประจำทาง
นายนพดล ปัทมะ กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการ "สร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างอนาคต" เช่น ชาวนาไม่ควรขายข้าวได้ต่ำกว่าเกวียนละ 1 หมื่นบาท, ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปเพาะปลูกพืชราคาสูงที่มีความต้องการของตลาด เช่น ผักออร์แกนิค, การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต, การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 จำนวน 50 ล้านไร่, การส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า โดยเกษตรกรจะมีรายได้จากค่าจ้างปลูก ดูแลรักษา และส่วนแบ่งเมื่อตัดไม้ขาย, การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 350 บาท, การส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยให้เข้าถึงคนยากจน และปรับหลักสูตรให้เด็กคิดเป็น พูดได้อย่างน้อย 3 ภาษา ลดเวลาเรียนในห้องเรียน, ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะนั้น ต้องขยายโครงข่ายไปยังภูมิภาคต่างๆ และการขยายเส้นทางรถโดยสารประจำทางให้ครอบคลุม และจัดให้บริการฟรีแก่ประชาชน
อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาประเทศนั้น บ้านเมืองจะต้องเป็นประชาธิปไตย มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพราะปัญหาท้องถิ่นเขาย่อมรู้ดีต้องให้แก้ไขเอง ภาคราชการต้องทำตัวให้เล็กลง ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และขยายโอกาสทางการศึกษา
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดจากปัญหาโครงสร้างที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอำนาจในการบริหารอยู่ในมือของกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มทุน ทำให้เกิดปัญหารวยกระจุกจนกระจาย ซึ่งพรรคมีแนวทาง "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส" เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เช่น การพยุงราคาสินค้าเกษตร, การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเชื่อมโยงตลาด, การช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งทุน
ส่วนการพัฒนาด้านคมนาคมนั้น พรรคสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่างๆ แต่ต้องดูแลเรื่องค่าโดยสารให้มีอัตราที่เหมาะสม โดยรัฐอาจจำเป็นต้องไปขอซื้อสัมปทานคืนจากภาคเอกชน เอให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ ส่วนรถโดยสารประจำทางนั้นจะต้องปรับบทบาทมาเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ ยังสามารถนำแอพพลิเคชั่นมาใช้เพื่อให้สามารถรู้เวลาที่รถโดยสารประจำทางที่ต้องการใช้บริการมาถึง ตลอดจนการนำบัตรโดยสารร่วมมาใช้
ปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถเอาชนะนายทุนที่หนุนหลังพรรคการเมือง และไม่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
และการให้บริการรถประจำทางฟรีและครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อช่วยลดค่าครองชคพให้กับประชาชน
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การขยายโอกาสจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น การขยายโอกาสทางการศึกษาและการรักษาพยาบาลไปยังส่วนภูมิภาคที่ห่างไกล นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเกิดจากการให้สัมปทานผูกขาดตัดตอน ทำให้ปิดเส้นทางในการประกอบอาชีพของผู้ประการรายย่อย
ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนนั้นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องค่าโดยสารมีอัตราสูงเกินไป ซึ่งส่งผลให้คนหันไปซื้อรถยนต์ใช้เอง และสร้างปัญหาจราจรและมลพิษตามมา และอุปสรรคที่สำคัญต่อการแก้ปัญหานี้คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคมีแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม 2 ประการ คือ 1.การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ด้วยการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และมีช่องทางการตลาดใหม่ๆ และ 2.การปฏิรูปการศึกษา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อยเกินไป ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการจัดตั้งสภาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการเปิดรับความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่
"คนออกแบบการศึกษามองไปมีแต่หัวขาวโพลนไปหมด ต้องเปิดรับความเห็นคนรุ่นใหม่ ระบบการศึกษาต้องหลุดพ้นจากวงจรการเมือง" นายวราวุธ กล่าว
ส่วนนโยบายด้านคมนาคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เห็นด้วยกับการลงทุนโครงการขนส่งมวลชนระบบราง แต่ที่ผ่านมายังขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การกำหนดค่าโดยสารยังไม่เหมาะสมเพราะมีอัตราสูงเกินไป
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น จะต้องลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจนให้แคบลง เพราะหากมีความแตกต่างกันมากจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำซึ่งจะส่งผลกระทบทางสังคม และด้านอื่นๆ ตามมา
แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องมุ่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีรายได้ดีขึ้น ด้วยการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน การจัดหาแหล่งน้ำ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต และการหาตลาด
ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนนั้นต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาจราจรและลดมลพิษ โดยจะต้องมีรถไฟฟ้าเป็นโครงข่ายหลัก และมีรถประจำทางเข้ามาเชื่อมโยงการเดินทาง
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากความไม่เสมอภาค งบประมาณกว่า 80% จัดสรรเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ที่มีประชากรอยู่ราว 20% ของประเทศ ในทางตรงกันข้าม งบที่เหลืออีก 20% ใช้สำหรับการพัฒนาเพื่อประชากรอีก 80% ของประเทศ ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ คือปรับแนวคิดภาครัฐ เช่น การออกกฎหมายเพื่อปิดทางทำมาหากินของประชาชน แต่กลับเพิกเฉยต่อธุรกิจที่ผูกขาด และต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ใช่การกำหนดนโยบายจากส่วนกลางที่ไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น
ส่วนการพัฒนาด้านคมนาคมนั้น ที่ผ่านมารัฐยังมีแนวคิดเดิมที่คำนึงถึงเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ