จับตากระแสเลื่อนเลือกตั้งยาว-ปรับ ครม.ยืดลมหายใจรัฐบาล

ข่าวการเมือง Thursday January 17, 2019 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายฝ่ายจับตาความชัดเจนของการกำหนดวันเลือกตั้งที่ขณะนี้ยังไม่มีทีท่าออกมาหลังจากตั้งตารอมาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมาที่คาดว่าจะมีการประกาศออกมาเพื่อให้จัดการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 24 ก.พ.ตามโรดแมพที่รัฐบาลกำหนดไว้ ตอนนี้เป้าจึงไปตกอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าจะเคาะวันได้เมื่อใด ขณะที่ฝ่ายการเมืองที่ออกมายืดเส้นยืดสายรอกรรมการให้สัญญาณออกสตาร์ทเริ่มมีเสียงบ่นว่ากระสุนล็อตแรกหมดไปแล้ว และกระสุนนัดต่อไปก็หยุดชะงัก หลังการเลือกตั้งส่อแวววาอาจเลื่อนยาว

ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 171 ว่า ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 150 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายรัฐบาลได้ออกมาระบุว่า การกำหนดวันเลือกตั้งของ กกต. ควรมีขึ้นภายหลังวันที่ 26 ม.ค.62 ซึ่งเป็นวันประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะหมายกำหนดการพระราชพิธีต่างๆ จะมีความชัดเจนขึ้น

การที่ พ.ร.ฎ.ยังไม่ประกาศในราชกิจจาฯ ทำให้ กกต.ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้ง แต่ถึงอย่างไรการเลือกตั้งต้องมีก่อนพระราชพิธีฯ เพราะอยู่ในช่วง 150 วันหลังวันที่ (11 ธ.ค.61-9 พ.ค.62) ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้

"การประกาศผลรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ที่เหมาะสม ควรจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีฯ คือวันที่ 20 พ.ค.62 ทั้งนี้ หาก กกต.จะยืนยันจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 ก็ทำได้ แต่ระยะเวลาในการหาเสียงก็จะน้อยลง"

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ไปแล้ว กฎหมายทั้งสองฉบับจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.61 เป็นต้นไป ดังนั้น จึงจะสามารถคัดเลือก ส.ว.และจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วง 11 ธ.ค.61-9 พ.ค.62

ดังนั้นหากภายในช่วงปลายเดือนนี้ยังไม่มีการประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ก็เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินการใช้จ่ายในช่วงหาเสียง เช่น การทำป้ายหาเสียง ป้ายโฆษณา แผ่นพับ ใบปลิวต่างๆ ต้องเลื่อนตามออกไปด้วย ทำให้การเมืองเกิดสูญญากาศไปช่วงหนึ่ง โดยขณะนี้เริ่มเห็นความชะงักงันของเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่พรรคการเมืองกระจายไปยังมือว่าที่ผู้สมัครเพื่อปูพรมก่อนเปิดฉากของจริงแล้ว

ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อซื้อเวลาลดแรงกดดันรัฐบาลหากมีการเลื่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะแรงกดดันต่อต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป้าหมายสำคัญของการปรับ ครม.อยู่ที่รัฐมนตรีที่ประกาศตัวเป็นแกนนำพรรรคพลังประชารัฐ คือ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รวมทั้ง 3 รัฐมนตรีที่ถูก กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากถือครองหุ้นที่เป็นสัมปทานกับรัฐ ประกอบด้วย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม

นอกจากนั้น ยังมีผู้มองถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเก้าอี้ของ รมว.คลัง ที่ตกเป็นอีกหนึ่งเป้าโจมตีท่ามกลางปัญหาการชะลอตัวของภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ

แต่ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของการเลือกตั้ง หลายพรรคต่างก็ทยอยเดินหน้าการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะห่วงว่าหากเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็จะทำให้มีเวลาในการหาเสียงลดน้อยลง โดยขณะนี้กว่า 70 พรรคเริ่มเปิดศึกการต่อสู้ด้วยการนำเสนอนโยบายและโครงการต่างๆ เป็นการช่วงชิงระหว่างพรรคการเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยกับพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาต่อสู้กันในสนามเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ฝ่ายที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยจะเอาเรื่องนี้ไปหาเสียงกับประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเพียงลำพังก็อาจไม่ได้ผลมากนัก เพราะบางคนอาจคิดว่าประชาธิปไตยกินไม่ได้ ดังนั้นการหาเสียงของฝ่ายที่อ้างเป็นประชาธิปไตยจึงมุ่งโจมตีมาที่ผลงานของรัฐบาล คสช.โดยระบุว่า ถ้าอยากมีชีวิตอยู่อย่างทุกวันนี้ก็ให้เลือกพรรคที่มาจาก คสช. แต่ถ้าอยากให้ชีวิตดีขึ้นกว่าทุกวันนี้ก็เลือกฝ่ายที่อ้างเป็นประชาธิปไตย

นอกจากนี้ พรรคการเมืองต่างหยิบยกประเด็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในช่วงกว่า 4 ปีภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่มาจาก คสช.ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นมาโจมตี ซึ่งดูท่าจะมีเสียงตอบรับกลับมาจากประชาชนมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ความเดือดร้อนเรื่องปากท้องของประชาชน นักลงทุนต่างชาติยังขาดความเชื่อมั่น ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาราคาสินค้าแพง ปัญหาราคาพลังงานสูงเกินจริง เป็นต้น

จากผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน นโยบายพรรคการเมืองที่โดนใจประชาชน ส่วนใหญ่ชอบนโยบายแก้ปัญหาความยากจน ขึ้นเงินเดือน เพิ่มค่าแรง เน้นกินดีอยู่ดี, นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาการค้า การส่งออกและอุตสาหกรรม, นโยบายช่วยเหลือเกษตรกร แก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำดูแลที่ดินทำกิน, นโยบายปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น ผู้มีอิทธิพล สิ่งผิดกฎหมาย, นโยบายควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดค่าครองชีพ

นอกจากนี้ นโยบายพัฒนาระบบการศึกษา ดูแลครู นักเรียน มีนโยบาย เรียนฟรี, นโยบายมีสวัสดิการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนฟรี, นโยบายมีธรรมา ภิบาลในการบริหารบ้านเมือง ปฏิรูปการเมือง ลดความ ขัดแย้ง และนโยบายลงทุนด้านการคมนาคม การขนส่ง แก้ปัญหาจราจร การต่อสู้แข่งขันของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยแตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เพราะนอกจากระยะเวลาของการหาเสียง ยังมีประเด็นสำคัญคือการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นหมากการเมืองคนสำคัญยังไม่ยอมประกาศท่าทีที่ชัดเจนว่าตกลงปลงใจรับปากอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่น่าจะปักใจเชื่อไปแล้วว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรครัฐบาล คสช. ดังนั้นการประกาศชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นเพียงการประวิงเวลาไว้รอสถานการณ์ที่เหมาะสม หรือเมื่อถึงเวลาที่พรรคการเมืองต้องยื่นบัญชีรายชื่อผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ กกต.เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ