นายสมชาย แสวงการ อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีขบวนการในการบิดเบือนเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าวใน 2 ประเด็น ได้แก่ การกล่าวหาว่าร่างแก้ไขกฎหมายที่ให้นำกัญชามารักษาโรคจะทำให้เกิดการจำหน่ายพืชฝิ่นได้ ขอชี้แจงว่าไม่สามารถจำหน่ายพืชฝิ่นได้ เพราะฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย และที่ผ่านมาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดก็ไม่เคยอนุญาตให้ปลูกหรือครอบครองหรือทำการวิจัยได้ เว้นแต่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพียงหน่วยงานเดียวเพื่องานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรม ทำให้ผู้วิจัยศึกษาที่เป็นบริษัทหรือบุคคลต่างชาติได้เปรียบผู้ศึกษาวิจัยที่เป็นคนไทยที่จะทำการศึกษาได้เมื่อกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ และอาจมีผลกระทบต่อการยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการงานวิจัย และมีผลให้ประเทศไทยเกิดความเสียหายและไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายเท่าที่ควร ขอชี้แจงว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจะมีการยกเว้นโทษให้กับผู้ศึกษาวิจัยที่มีกัญชาไว้ในครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่บุคคลดังกล่าวจะต้องยื่นขออนุญาตตามกฎหมาย
"บุคคลทั่วไปที่จะยื่นขออนุญาตตามกฎหมาย จะต้องเป็นบุคลที่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่หากเป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีสำนักงานในประเทศไทย ดังนั้น กรณีที่ผู้ศึกษาวิจัยเป็นคนต่างชาติที่ได้ดำเนินการมาก่อนร่างกฎหมายใช้บังคับ จึงไม่อาจขออนุญาตเพื่อศึกษาวิจัยได้ และ หากผู้ศึกษาวิจัยเป็นนิติบุคคล ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์กับชาวต่างชาติแต่อย่างใด"
นายสมชาย ยืนยันว่า กระบวนการออกกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสนช.แล้ว และอยู่ในระหว่างการรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ของสนช.ได้ผ่านกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญทุกประการ
ด้านนางจารุวรรณ เฮงตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ขณะนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชา 2 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสนช. ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการนำกัญชาเข้าสู่การวิจัย เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้แก้ไขให้กัญชา สามารถซื้อขายได้อย่างเสรี ไม่อนุญาตให้เสพกัญชา และปลูกอย่างเสรี แต่เป็นการปลดล็อกให้สามารถใช้ในการวิจัย และมีการปลูกภายใต้การควบคุม ไม่สามารถปลูกได้ทั่วไป
ด้านนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การนำกัญชามาใช้ทางการรักษา เป็นการนำสารสำคัญจากกัญชามาใช้ เพื่อเป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย ลมชัก หรือกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งต้องดูเรื่องของผลการศึกษาทางการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีการนำสารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้การรักษาแล้ว โดยในส่วนของไทยต้องพิจารณา กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใช้ สถานที่ใช้ กำหนดการวิจัย สายพันธุ์ที่จะปลูกที่ต้องถูกต้องด้วย
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในขณะนี้มีคำขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์กัญชา เข้ามาแล้ว 13 คำขอ ซึ่งเป็นคำขอจากต่างประเทศ โดยยืนยันว่า ทางกระทรวงยังไม่ได้มีการคุ้มครองหรือพิจารณาคำขอใด เพราะต้องรอการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะออกมาบังคับใช้
ทั้งนี้หากมีการรับจดสิทธิบัตร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งประดิษฐ์จากกัญชาจะสามารถจำหน่ายได้อย่างเสรี เพราะต้องดูที่ข้อกฎหมายประกอบด้วย ส่วนสารสะกัดจากกัญชา และสารสะกัดจากพืชทั้งหมด ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ เพราะการจดสิทธิบัตร ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ต่อยอดจากสิ่งประดิษฐ์เดิม และสามารถประยุทกต์ใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้
นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวภายหลังการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับเร่งสร้างความเข้าใจในประเด็นกฎหมายกัญชา และการดูแลสุขภาพ การป้องกันฝุ่นละออง โดยให้เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างเร่งด่วน