นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าสืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1054 – 125/2561 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 พิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมใส่นาฬิกาหรูแต่ไม่แจ้งนาฬิกาดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่า กรณียังไม่มีมูลเพียงพอว่าพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนา ไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินและให้แจ้งข้อมูลนาฬิกาจำนวน 22 เรือน ต่อกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งสำนักงานป.ป.ช..ได้แถลงข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนทราบแล้ว นั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ในเวทีการพบปะระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับบรรณาธิการ สื่อมวลชน ได้มีการสอบถามเหตุผลในการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจต่อสังคมโดยทั่วกัน สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของนาฬิกาดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดยืนยันว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คงปรากฏเพียงภาพถ่ายที่พลเอกประวิตร สวมใส่อยู่ ซึ่งรับฟังได้เพียงว่าพลเอกประวิตร เป็นผู้ครอบครองใช้เท่านั้น ส่วนความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงในบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช. ยังฟังยุติไม่ได้ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ทั้งพยานวัตถุ พยานเอกสาร และพยานบุคคล ต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่านาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ซื้อนาฬิกาจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่าย ในต่างประเทศนั้น กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่าการตรวจสอบทรัพย์สินในต่างประเทศในกรณีนี้เป็นการตรวจสอบไปยังประเทศที่บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกาตั้งอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบทวีปยุโรปซึ่งมีหลักการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศที่เคร่งครัดในการดำเนินการขอความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผ่านอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางนั้น จึงมีประเด็นสำคัญในเรื่องหลักความผิดสองรัฐ หรือ Dual Criminality ซึ่งมีหลักการว่าฐานความผิดในการขอความร่วมมือต้องเป็นความผิดทางอาญาของประเทศผู้รับ คำร้องด้วยซึ่งกรณีนี้เป็นความผิดในเรื่องการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งในบางประเทศไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและไม่เป็นคดีทุจริตแต่เป็นเพียงการตรวจสอบในเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีที่ไม่เป็นความผิดทางอาญาในประเทศผู้รับคำร้องประเทศดังกล่าวจะปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนั้นการขอความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านอัยการสูงสุดเป็นกระบวนการตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้เป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานานมากเป็นปีในการขอความร่วมมือดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช. จึงได้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2555 ข้อ 23 ซึ่งกำหนดให้ในกรณีจำเป็นต้องตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในต่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการขอให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลของประเทศไทยในประเทศดังกล่าวตรวจสอบข้อมูลให้ได้โดยตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายนาฬิกาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบแต่เนื่องจากทรัพย์สินในกรณีนี้คือนาฬิกาซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนตามกฎหมายมีการซื้อขายและเปลี่ยนมือได้ง่าย ทำให้การติดตามเป็นไปได้ยากประกอบกับข้อมูลความเป็นเจ้าของดังกล่าวถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล บางประเทศจึงปฏิเสธไม่เปิดเผยนอกจากนี้บางประเทศได้มีการอ้างถึงหลักความผิดสองรัฐ หรือ Dual Criminality โดยแจ้งว่าการยื่นบัญชีเท็จไม่เป็นความผิดอาญาในประเทศของตนจึงปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลไม่ว่าจะมีการขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตามสำหรับประเด็นที่มีการนำกรณีการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรูไปเทียบเคียงกับการตรวจสอบคดีรถโฟล์กสวาเกนของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้
สำนักงาน ป.ป.ช..ชี้แจงว่า เมื่อได้เปรียบเทียบ 2 กรณีพบว่ามีพฤติการณ์และข้อเท็จจริงแตกต่างกัน และได้ข้อวินิจฉัยว่าพบพยานวัตถุเป็นนาฬิกาทั้งหมด 20 เรือนไม่พบตัวเรือนแต่พบพยานเอกสารเป็นใบรับประกัน.1.เรือน.ไม่พบทั้งตัวเรือนและใบรับประกัน 1 เรือน รวม 22 เรือนอยู่ในความครอบครองของทายาทนายปัฐวาท และมีพยานบุคคลและพยานเอกสาร ยืนยันว่านายปัฐวาท เป็นเจ้าของกรรมการ ป.ป.ช..เสียงข้างมากจึงวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานฟังได้ว่านาฬิกาที่ปรากฏเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาทและเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิการาคาแพงที่นายปัฐวาท ได้สะสมไว้ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือ เพื่อตนจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวว่านายปัฐวาทเป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าวจำนวน 21 เรือน และได้ให้พลเอกประวิตร ยืมใช้ในโอกาสต่างๆ ตามที่ปรากฏในภาพข่าว ประกอบกับนายปัฐวาทได้ให้เพื่อนคนอื่นยืมใช้นาฬิการาคาแพงด้วยจึงรับฟังว่าเป็นการกระทำโดยปกติของนายปัฐวาทที่ช่วยดูแลกลุ่มเพื่อนเก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่สนิทสนมกัน รวมถึงเพื่อนกลุ่มอื่นด้วย
ในส่วนของนาฬิกาอีก 1 เรือนที่ไม่พบตัวเรือนและไม่พบใบรับประกันนั้นจากการตรวจสอบยังไม่พบรายละเอียดข้อมูลนาฬิกาเรือนดังกล่าวแต่เมื่อนาฬิกาเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย และนายปัฐวาทได้เสียชีวิตไปแล้ว และเมื่อรับฟังว่าพลเอกประวิตรได้ยืมนาฬิกาจากนายปัฐวาท มาสวมใส่ในการออกงานต่างๆ จำนวน 21 เรือนข้างต้น จึงรับฟังได้ว่าพลเอกประวิตร ได้ยืมนาฬิกาจากนายปัฐวาทมาสวมใส่ในแต่ละโอกาสและได้คืนนาฬิกาดังกล่าวแล้วจึงไม่ได้มีเจตนายึดถือนาฬิกาดังกล่าวไว้เพื่อตนและไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นเจ้าของนาฬิกาทั้ง 22 เรือนดังกล่าว