นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
สืบเนื่องจากนโยบายยกระดับราคาข้าวในช่วงปี 54-57 ที่กำหนดให้การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเป็นเครื่องสำคัญ ปรากฎข้อเท็จจริงว่าได้มีการทุจริตในชั้นการระบายข้าวหรือขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างครอบคลุมรอบด้าน ป.ป.ช.จึงได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบจีทูจีจากโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบจีทูจี ที่เป็นทั้งมาตรการด้านนโยบาย และมาตรการด้านการดำเนินงานของหน่วยงาน ดังนี้
มาตรการด้านนโยบาย ประกอบด้วย
1.รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถประกอบเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง และให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น โดยใช้กลไกการเพิ่มตลาดและลดต้นทุนการผลิต
2.การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ดำเนินการเท่าที่จำเป็น
3.คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ควรกำหนดกรอบนโยบายและเป้าหมายของการบริหารจัดการข้าวใแต่ละปีอย่างเหมาะสม
มาตรการด้านการดำเนินงานของหน่วยงาน ประกอบด้วย
1.ในขั้นตอนก่อนระบายข้าว ควรให้ข้าราชการประจำของกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว โดยในการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ ควรมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยรายงานการประชุมต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ควรให้กรมการค้าต่างประเทศกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือคู่มือที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้อ้างถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการกำหนดให้มีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
2.วิธีการระบายข้าว ควรให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาระบายข้าวด้วยวิธีอื่น แต่ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วน อาจประสานกับผู้ประกอบการค้าข้าว โดยนำรายชื่อมาจากสมาคมผู้ค้าข้าว ซึ่งต้องเป็นผู้ค้าข้าวจริงมิใช่นายหน้าเข้ามาแข่งขัน และส่งเสริมการระบายข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยพัฒนาให้เป็นแหล่งสำคัญของการระบายข้าว
3.ขั้นตอนการพิจารณาสัญญาก่อนลงนามในสัญญาระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ให้กรมการค้าต่างประเทศ จัดทำสัญญามาตรฐานเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ โดยคำนึงถึงการตรวจสอบคู่สัญญาเกี่ยวกับสถานะการเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางในการส่งมอบข้าว การชำระเงิน และราคาข้าว มาพิจารณาประกอบการจัดทำสัญญาดังกล่าวด้วย รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ
คู่สัญญาของรัฐ ต้องเป็นรัฐบาลกลางหรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดำเนินการแทนรัฐบาลกลางเท่านั้น ส่วนวิธีการส่งมอบข้าว ไม่ควรส่งมอบแบบหน้าคลังสินค้า และควรกำหนดวิธีการควบคุมเพื่อให้มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง ขณะที่วิธีการชำระเงิน ควรชำระเงินผ่านธนาคารโดยวิธี Letter of Credit (L/C) และที่สำคัญราคาข้าวนั้น ไม่ควรกำหนดราคามิตรภาพหรือราคาต่ำกว่าราคาตลาด
4.การเปิดเผยข้อมูลการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้สาธารณชนรับทราบ ควรให้กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสัญญาทั้งฉบับ แต่หากไม่สามารถเปิดเผยสัญญาทั้งฉบับได้ ควรเปิดเผยข้อมูลบางส่วน เช่น ปริมาณ ชนิด ราคา วิธีการส่งมอบ การชำระเงิน เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำคู่มือเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เพื่อร่วมกันตรวจสอบการบริหารงานของภาครัฐ
"ที่ประชุม ครม.ได้ให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช." นายพุทธิพงษ์ ระบุ