นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมภายหลังได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.นี้ โดยวัตถุประสงค์เพื่อพูดคุยกันเรื่องงาน ซึ่งถือว่ากระทรวงฯมีผลงานมากทีเดียวในหลายเรื่องและจะต้องขับเคลื่อนต่อไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ
"วันนี้เป็นจุดหักเหสำคัญของประเทศไทย เศรษฐกิจต้องเปลี่ยน สังคมต้องเปลี่ยน ประเทศไทยถึงจะปรับเปลี่ยนและก้าวทันโลก กระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทเยอะ เศรษฐกิจต้องเปลี่ยนเพราะเศรษฐกิจเป็นหัวใจ เรื่องของขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย การที่อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจะช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำเพราะถ้าเราสามารถสร้างงานสร้างโอกาสใหม่ๆให้คนไทยรุ่นใหม่นี่คือการลดความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด"
กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อน ซึ่งได้วางแนวทางไว้แล้วคือแนวทางไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีแต่ชื่อกิจกรรมยังไม่ค่อยมีแต่ตอนนี้เราได้เริ่มไว้พอสมควร เช่น เรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้มีการริเริ่มแล้วซึ่งได้ฝากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไว้ว่าเรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าจะให้อุตสาหกรรม 4.0 จะเกิดขึ้นได้จริง อุตสาหกรรมเป้าหมายต้องมีความคืบหน้า ต้องเกิดให้ได้ เช่น เรื่องมลพิษ กระทรวงอุตสาหกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่มาตรการที่จะดูแลในส่วนของสถานประกอบการ โรงงาน ซึ่งขอให้ใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเข้มข้นขึ้น
โดยล่าสุดได้พบปะหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) มาร่วมยกร่างยุทธศาสตร์การดูแลเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อมในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเชื่อมต่อยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน เพราะเรื่องเหล่านี้ตอบโจทย์คนไทย เพื่อความเป็นอยู่ของคนไทย
"ผมเสนอไปว่าให้รีบยกร่างเลย รีบทำเลย เท่าที่คุยกับรัฐมนตรีพลังงานท่านพร้อมจะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเอาเรื่องนี้เข้า ครม."
นอกจากนี้เรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เรื่องของหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว ขอให้เดินหน้าโดยสร้างระบบ Center of Robotic Excellence (CORE) ให้ขยายผลให้เห็นผลชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน ด้วยการสร้างเครือข่ายแพลตฟอร์มระดับประเทศที่จะทำเรื่องการดูแลเสริมทักษะ สร้างทักษะใหม่ให้แรงงาน บุคคลากรของประเทศเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงการพัฒนาแรงงานด้านอาชีวะทั้งเสริมทักษะ องค์ความรู้ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และการผลิตคน ผู้ชำนาญ ผู้เชี่ยวชาญ ช่างฝีมือระบบต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน ซึ่งทางสภาหอการค้าไทยยินดีที่จะมาร่วมมือจัดตั้งแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะเชิงอาชีวะระดับชาติ โดยยึดโยงไปที่กระทรวงศึกษาธิการแต่เอาเอกชนเป็นหลัก เชิญทั้งบริษัท ทั้งจากญี่ปุ่นจากยุโรป ซึ่งมีความสนใจอยู่แล้วเพียงแต่วันนี้ยังไม่มีใครลุกขึ้นมารวบรวมร้อยเรียงแนวความคิดนำไปสู่การปฏิบัติ
นายอุตตม กล่าวต่อว่า เรื่องของส่งเสริม SME ที่ได้ทำมาในระดับนึงแต่ยังไม่พอต้องทำมากกว่านี้ เรื่องการใช้ประโยชน์ของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) ที่ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 102 แห่งที่ควรเชื่อมโยงกับโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(CIV) รวมถึงการอำนวยความสะดวกและการบริหารที่จะต้องให้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ฝากให้ผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่อีก 2 อุตสาหกรรมได้แก่ อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน(Cicular Economy) ถ้าทำ 2 เรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมได้โดยเร็วประเทศไทยจะมีพลังมากในอาเซียนในฐานะ Bio Hub ของอาเซียนอาเซียนได้เลย ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปีน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
"เราต้องเอาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเข้าพื้นที่ ไม่ใช่ดึงคนจากพื้นที่ไปเข้าอุตสาหกรรมในเมือง แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคน" นายอุตตม กล่าว
สำหรับการดำเนินงาน 5 โครงการหลักในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเดินหน้าต่อตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดเดิมได้ เพราะเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศจะเห็นความสำคัญของ EEC ซึ่งเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์กับประเทศในทุกมิติ
นายอุตตม กล่าวต่อว่า ทุกเรื่องที่กล่าวมายังไม่สุดทางทั้งนั้น เช่น เรื่อง SME สิ่งที่ยังอยากเห็น คือเรื่องการช่วยเหลือคนตัวเล็กหรือ Micro SME และการฟื้นฟูคนที่ล้มไปแล้วจะทำอย่างไรให้ลุกขึ้นมาได้ อยากให้ทำให้เข้มข้นกว่านี้ และต้องทำให้เร็วเพราะการเปลี่ยนเศรษฐกิจเปลี่ยนประเทศไทยต้องเร็วพอสมควร ถ้าเราทำงานช้าก็จะไม่ทันการ อุตสาหกรรมคือหัวใจของเศรษฐกิจ หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนคือปรับจากภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม
ในส่วนของผู้ที่จะมาเป็นรักษาการ รมว.อุตสาหกรรมนั้น นายอุตตม กล่าวว่า เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะพิจารณา แต่ยืนยันว่าระหว่างนี้จะไม่เป็นสูญญากาศเพราะทุกกระทรวงมีรัฐมนตรีที่ช่วยสำรองดูแลงานได้
ส่วนบอร์ด EEC ที่มีรัฐมนตรีที่ลาออกนั่งอยู่ก็คงเป็นเรื่องของเลขาฯ EEC ทำเรื่องไปหารือบอร์ดใหญ่และผ่านไปถึงรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจไปถึงนายกรัฐมนตรีว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร แต่กลไกต่างๆ เดินหน้าต่อไปแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีนโยบายไหนที่จะนำไปใช้เป็นนโยบายพรรค นายอุตตม กล่าวว่า ได้บอกผู้บริหารกระทรวงว่านโยบายหรือสิ่งใดที่ทำใปัจจุบันเป็นสิ่งที่ดี อุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การดูแลมลพิษ ยุทธศาสตร์ใหม่ ให้ทำต่อไป และไม่ต้องคิดว่ารัฐบาลไหนจะมา เรื่องพวกนี้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยต่อประเทศอยู่แล้ว มันชัดเจนในตัว ส่วนรัฐบาลหน้ามาค่อยมาว่ากัน แต่ถ้ามีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็น คิดว่ามีแรงสนับสนุนอยู่แล้ว
"ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเรื่องที่เราทำเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ก็น่าจะได้รับการสนับสนุนในอนาคต"นายอุตตม กล่าว