พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภาพรวมการรับสมัครเลือกตั้งส.ส.ในวันสุดท้ายว่า คาดว่าจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ และรายชื่อผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) รวมทั้งรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของทุกพรรคการเมือง อย่างเป็นทางการได้ไม่เกินวันที่ 15 ก.พ.นี้
สำหรับภาพรวมการรับสมัครวันนี้ ข้อมูลเบื้องต้น (เวลา 15.00 น.) มีพรรคการเมืองยื่นสมัคร ส.ส.ได้รวม 78 พรรค โดยวันนี้มีผู้มาสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตเพิ่มอีก 985 คน ส่งผลให้มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 10,207 คน ส่วนการยื่นสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 40 พรรค ซึ่งรับสมัครแล้ว 22 พรรค ส่งผลให้มีผู้สมัครรวม 57 พรรค
และต่อมาเมื่อเวลา 17.00 น. กกต.ได้แจ้งตัวเลขรับสมัคร ส.ส. ช่วง 4-8 ก.พ.62 ล่าสุด แบบแบ่งเขตมี 80 พรรค ผู้สมัคร 11,128 ราย และแบบบัญชีรายชื่อ 72 พรรค ผู้สมัคร 2,718 ราย
ขณะที่มีพรรคการเมืองยื่นรายชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 52 ราย จาก 33 พรรค
เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.วันนี้มีมติให้ลบหรือแก้ไขการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นการใส่ร้ายตามที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ร้องเรียน และหลังจากนี้จะพิจารณาตั้งคณะกรรมการไต่สวนว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด หากพบว่ามีความผิดของบุคคลทั่วไป กกต.จะดำเนินคดีอาญา แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับผู้สมัครจะพิจารณาตัดสิทธิสมัคร หากเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองอาจมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค
อย่างไรก็ตาม กกต.อยากเตือนไปถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียง ขอให้ระมัดระวังการหาเสียงที่จะเข้าข่ายการใส่ร้ายป้ายสี เพราะอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดมีโทษสูงทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนายณัฐฏ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.เขตเป็นอำนาจของผู้อำนวยการ กกต.เขต ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กฎหมายเขียนชัดว่าเป็นอำนาจของ กกต. แต่สำหรับคุณสมบัติของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ กกต.ยังเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า กกต.มีอำนาจพิจารณาหรือไม่ หรือมีอำนาจเพียงประกาศรายชื่อตามที่พรรคเสนอมา แต่เบื้องต้นเท่าที่อ่านกฎหมายน่าจะมีอำนาจแค่ประกาศ
อย่างไรก็ตาม กกต.มอบหมายให้ทางสำนักงานฯ ศึกษาข้อกฎหมายทั้งหมด และนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า หาก กกต.เห็นว่ากฎหมายให้อำนาจ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติได้ ก็จะนำคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.มาเป็นหลักในการพิจารณาเพราะเป็นคุณสมบัติเดียวกันร่วมกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี รวมถึงจะไปดูว่ามีคำร้องว่าขอให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อรายใดหรือไม่
แนวทางการพิจารณาเบื้องต้นนั้น จะพิจารณาว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ก่อน ซึ่งปัจจุบันที่มีการยื่นคำร้องปรากฏทางสื่อ เป็นการร้องเรื่องการนำสถาบันฯ มาใช้หาเสียง ไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อ กกต.ประกาศรายชื่อของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯแล้ว ผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ต่างจากผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.