นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เปิดเผยว่า วันนี้ เวลา 11.00 น.จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอไม่ให้รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้วินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายเรืองไกร กล่าวว่า หาก กกต.อาศัยเพียง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ที่ระบุว่า "เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ..." มาใช้ในการลงมติและมอบหมายให้นายทะเบียนมายื่นคำร้องอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการพิจารณาของ กกต.จะต้องมีการไต่สวน สอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิชี้แจงแสดงหลักฐาน ตามพ.ร.บ.ประกอบดรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หมวด 2 การสืบสวน การไต่สวน และการดำเนินคดี และระเบียบคณะกกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561
แต่เมื่อไม่ดำเนินการย่อมอาจเข้าข่ายลักษณะกระทำการหรือละเว้นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามมาตรา 69 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กกต.ได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป กรณีย่อมอาจขัดต่อหลักนิติธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง กำหนดไว้
ดังนั้น หากคำร้องของ กกต. มีปัญหาไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหากมีการนำคำว่า "ปฏิปักษ์" ไปวินิจฉัยตีความให้เกินเลยไปกว่าตัวหนังสือที่ปรากฏในพยานหลักฐาน จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือจำหน่ายคดี ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 โดยเร็ว
ด้านกลุ่มประชาชนคนอยากเลือกตั้ง ออกแถลงการณ์คัดค้านการยุบพรรค ทษช.โดยระบุว่า ขอคัดค้านการยุบพรรค ทรษ.เนื่องจากการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฟ้าหญิงอุบลรัตนฯ ซึ่งตามกฎหมายเป็นสามัญชนตั้งแต่ปี 2515 ด้วยความสมัครใจของทูลกระหม่อมฯ เองที่อาสาตนมารับใช้ประเทศชาติ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการส่งเสริมระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงแม้ว่าต่อมาจะมีพระราชโองการเห็นว่าทูลกระหม่อมอยู่เหนือการเมืองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็สมควรยุติการดำเนินการที่จะนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติ
การที่ กกต.มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ ย่อมจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมารอบใหม่ แทนที่จะให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเรียบร้อย เป็นทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนับแต่รัฐประหาร 19 ก.ย.49
ประการที่สอง กกต.พิจารณาอย่างไม่เป็นธรรมสองมาตรฐาน กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ )คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี จัดโต๊ะจีนระดมทุนเข้าพรรคโดยผิดกฎหมาย มีผู้ยื่นให้ กกต.ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.61 บัดนี้ผ่านไป 55 วันแล้วไม่มีความคืบหน้า เปรียบเทียบกับกรณีของพรรค ทรษ.กลับใช้เวลาเพียง 5 วันรวบรัดยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค โดยไม่รับฟังความเห็นและข้อเท็จจริงจากพรรค
ประการที่สาม หากพรรค ทรษ.ต้องถูกยุบพรรค เหตุเพราะเสนอชื่อทูลกระหม่อมที่เป็นพระเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์แล้วเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องถูกยุบพรรค แล้วสังคมไทยมีความเห็นอย่างไรกับกรณีที่พรรคประชาชนปฏิรูป โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ชูภาพของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการหาเสียง แน่นอนว่าสถาบันกษัตริย์และการเมืองมีความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้น แต่ศาสนาและการเมืองสมควรแยกออกจากกัน การแอบอ้างพระพุทธเจ้าถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ สมควรถูกยุบพรรคมากกว่าพรรค ทรษ.หรือไม่