4 แกนนำพรรคการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Bangkok Post Forum 2019 "อนาคตประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง" ชูนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต่อยอดบัตรสวัสดิการ-พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอ 6 ยุทธศาสตร์ เน้นกินดี อยู่ดี-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำเสนอตัวชี้วัดเศรษฐกิจใหม่-พรรคอนาคตใหม่ หวังแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดกลุ่มทุนผูกขาด
นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรคเน้นการนำเสนอนโยบายที่ทำได้จริง ไม่ขายฝัน และเป็นการทำนโยบายที่มาจากความต้องการของประชาชน ใน 3 ด้าน 1.สวัสดิการประชารัฐ เพื่อขจัดความเลื่อมล้ำ โดยเพิ่มจำนวนบัตรสวัสดิการอีก 2-3 ล้านคนจากที่มีอยู่ 14.5 ล้านคน 2.เศรษฐกิจประชารัฐ สร้างความสามารถและโอกาสที่เท่าเทียมกัน นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ กระจายรายได้สร้างโอกาส ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง 3.สังคมประชารัฐ การทำให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข โดยแต่ละด้านจะมีนโยบาย 7-7-7 ที่จะเป็นแนวทางแก้ปัญหา
"การเลือกตั้งครั้งนี้ขึ้นกับประชาชน จะเลือกทางไหน จะเลือกในทางที่คุ้นเคย หรือ สิ่งใหม่ๆ ที่ยึดโยงกับความเป็นจริง ไม่ทิ้งปัญหาไว้ภายหลัง"นายอุตตม กล่าว
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโบายของพรรคว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้เลวร้าย เศรษฐกิจระดับบนยังแข็งแรง แต่เงินที่ไหลออกเยอะกว่าไหลเข้า หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นถึง 17% เมื่อเทียบกับจีดีพี หนี้เสีย SME ก็สูงขึ้น หนี้เสียเกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่า 40% ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง และกลับพบว่า รายจ่ายรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าการจัดเก็บรายได้ และคาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีภายในปี 2565 อาจสูง 48% ต่อจีดีพี
พรรคเพื่อไทยจึงเน้นนโยบายการกินดีอยู่ดี เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าในยุทธศาสตร์ 6 ด้าน 1.ไทยทำ ต้องมีแบรนด์ของเราเอง ไม่ใช่รับจ้างผลิตด้วยแรงงานราคาถูก 2.ไทยทันสมัย นำเทคโนโลยีมาช่วยในการแข่งขันทำรายได้ ที่สำคัญคือต้องลดขั้นตอนที่อุปสรรคจากฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมา 3.ไทยเท่าเทียม หัวใจสำคัญคือการกระจายอำนาจ สร้างโอกาสให้เท่ากันทั้งประเทศ 4.ไทยเชื่อมไทย เกิดจากการวางระบบคมนาคมเส้นเลือดฝอย วางระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูล 5.ไทยเชื่อมโลก พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงประเทศ 6.ไทยยั่งยืน แก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
"ทุกยุทธศาตร์ถูกกำหนดจากการนำปัญหามาวิเคราะห์และออกเป็นนโยบาย และทุกๆปัญหาจะถูกเชื่อมโยงกันด้วยการนำยุทธศาตร์ทั้ง 6 ด้านมาแก้ปัญหา" นายชัชชาติ กล่าว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนคาดหวัง 3 เรื่อง 1.ต้องการหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 2.อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า 3.ไม่ต้องการให้การเมืองกลับมาสู่ภาวะแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งแนวนโยบายของพรรค ปชป.คือ 1.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ต้องมีการแก้ไขแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียต่างๆที่ล้าสมัย ลดขั้นตอนการปฏิบัติที่ยุ่งยาก รวมถึงการกระจายอำนาจ 2.เรื่องโลกาภิวัฒน์ที่กระทบกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ต้องฟื้นฟูการเจรจาและการลงทุน ผลักดันให้ไทยเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV และยกระดับการพูดคุยเจรจาในฐานะอาเซียนกับจีน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางธุรกิจ 3.ไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง ต้องสร้างรายได้ให้ประเทศ 4.สังคมสูงวัย ไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องเพิ่มสวัสดิการดูแลกลุ่มผู้สูงวัยให้มากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอนโยบายในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะวัดแต่เพียงจีดีพีไม่ได้ แต่ต้องสร้างตัวชี้วัดใหม่ และมุ่งทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ และมีการประเมินผลอย่างชัดเจน รวมถึงต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพราะระบบภาษีแบบเดิมแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำไม่ได้
นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องการนำประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสู่เวทีสากล และเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ สร้างคน สร้างชาติ
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคต้องการเห็นคนไทยเกิดความเท่าเทียมและไทยก้าวทันโลก ต้องการสร้างการเมืองที่สร้างสรรค์ สร้างบริการสาธารณะ คมนาคม สาธารณสุข และการศึกษาที่ดีให้สังคมพร้อมต่อการเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเห็นว่า ทุกพรรคการเมืองต่างนำเสนอนโยบายที่ไม่ต่างกัน แต่ประเทศยังก้าวผ่านจุดนี้ไปไม่ได้ เพราะตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 7 คน รัฐประหาร 2 ครั้ง มีการแก้รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ ซึ่งนี่บ่งชี้ปัญหา คือ ไม่มีข้อตกลงในการอยู่ร่วมสังคมไทย ใจกลางของปัญหาคือ อำนาจบริหารทรัพยากรของประเทศอยู่ที่อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง หรืออำนาจจากการแต่งตั้ง
ทั้งนี้ นายธนาธร มองว่า สภาพปัญหาปัจจุบัน ยังมีโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ยังมีกลุ่มทุนที่ผูกขาด ระบบราชการรวมศูนย์ กองทัพเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย โดยได้ยกตัวอย่าง เรื่องสินค้าปลอดภาษีที่ยังมีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่เพิ่มความมั่งคั่งกว่า 1 แสนล้านบาท ภายใน 20 ปี ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กลุ่มทุนเดิมกลับมาถือสัญญาด้วย ซึ่งนี่คือกลุ่มทุนที่สนับสนุนเงินให้พรรคการเมืองที่จะสนับสนุนนายกฯคนปัจจุบันมาเป็นนายกฯต่อไป ซึ่งหากไม่จัดการโครงสร้างเหล่านี้ ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้
"นี่คือโจทย์ตั้งแต่ปี 2475 ที่มีรัฐประหารรวม 13 ครั้ง ซึ่งคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่มีใครพูด นี่คือยุคสมัยใหม่ ต้องทำให้การรัฐประหาร 2557 ทำให้เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย ทำลายโซ่ตรวนทำให้ประเทศไม่ก้าวไปข้างหน้า"นายธนาธร กล่าว