สนช. ยอมเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าวไม่มีกำหนดหลังยังมีเสียงค้าน โยนรัฐบาลหน้าตัดสินใจ ยันไร้ใบสั่ง

ข่าวการเมือง Tuesday February 26, 2019 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ.... เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ขอเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกแล้ว และให้เป็นดุลยพินิจของรัฐบาลชุดหน้าที่จะหยิบยกมาพิจารณาหากเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ

สำหรับเหตุผลที่ต้องเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากกรรมาธิการฯ ได้ พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า ยังมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย และเกรงว่าจะมีผู้ชุมนุมออกมาต่อต้าน และเกิดความไม่เข้าใจต่อสังคม ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากัน อีกทั้งยังพบว่ามีบางพรรคการเมืองนำไปประเด็นนี้หาเสียงและโจมตี

"เมื่อมีความไม่เข้าใจ ฝ่ายหนุนให้ออกก็มีมาก ฝ่ายต้านก็มี จึงมีความขัดแย้ง เกรงจะมีเพิ่มมากขึ้น เราจึงเสนอให้เลื่อนไปไม่มีกำหนด" นายกิติศักดิ์ กล่าว

พร้อมยืนยันว่า การถอนร่าง พ.ร.บ.ข้าว ในครั้งนี้ไม่ได้มีใบสั่งการจากนายกรัฐมนตรีหรือจากใคร และไม่ได้กังวลว่าพรรคการเมืองบางพรรคจะเสียคะแนน และย้ำว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวทำเพื่อชาวนาอย่างแท้จริง มีการรับฟังความเห็นจากชาวนาอย่างรอบด้าน ดำเนินการตามกฎหมาย และมาตรา 77 และเป็นร่างกฎหมายที่กำหนดสัดส่วนให้ชาวนามีโอกาสได้เข้ามานั่งเป็นกรรมการใน คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ไม่ได้มีการควบคุมเมล็ดพันธุ์พื้นอย่างที่มีการเข้าใจผิด และยังเปิดโอกาสให้มีการส่งเสริมด้านการตลาดให้กับชาวนาด้วย

"อยากจะทำความข้าใจกับทั้งพี่น้องการเมืองและชาวนาว่า ร่าง พ.ร.บ. ข้าวฉบับนี้เจตนาดี ต้องการช่วยเหลือชาวนาจริงๆ ไม่มีโอกาสออกกันง่ายๆ และยังคาอยู่ในสภา รัฐบาลหน้าจะหยิบมาหรือไม่ก็ได้"

ด้านนางสุภาภรณ์ มาลัยลอย เครือข่ายประชาชนพีเพิล โก เน็ตเวิร์ค ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ สนช. พร้อมรายชื่อประชาชนเกือบ 300 คน เพื่อขอให้ สนช. ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในสภาทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าการกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช.กว่า 400 ฉบับที่ผ่านมา เป็นไปอย่างรีบเร่งและขาดความรอบคอบ จนอาจจะเกิดผลกระทบกับประชาชนได้

พร้อมกันนี้ จะเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ มีกลไกหรือจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากฎหมายที่ผ่าน สนช.ใหม่ทั้งหมด ซึ่งหากพบกฎหมายที่เป็นปัญหาให้ยกเลิกทันที เพราะหากกฎหมายที่ออกไปแล้วมีปัญหา สนช. จะรับผิดชอบอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ