นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัครส.ส.กทม.เขต 6 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ facebook เกี่ยวกับนโยบายสินเชื่อชะลอการขายข้าว ว่า"นโยบายสินเชื่อชะลอการขายข้าว" ของพรรคพลังประชารัฐใน Facebook ดร.อุตตม สาวนายน ท่านอธิบายไว้ยาวหลายบรรทัด ผมอ่านจบแล้วเข้าใจชัดเจนว่า มันคือ "จำนำข้าว" บทเรียนแสนแพงที่ผู้บริหารต้องจำ ไม่น่าทำซ้ำ แต่ทำไมท่านเลือกปลุกผีจำนำข้าว
เพื่อให้เห็นภาพ"สินเชื่อชะลอการขาย" ธกส.ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้ชาวนา โดยมีข้าวเปลือกในยุ้งของชาวนา "จำนำ" เป็นหลักประกัน ยุ้งฉางของชาวนาจะถูกซิลปิดห้ามเคลื่อนย้าย จำนวนเงินให้กู้ จะขึ้นกับจำนวนข้าวเปลือกที่เอามาจำนำไว้ เมื่อครบกำหนดสัญญากู้ ชาวนามีทางเลือกสองทางคือ 1.) เอาเงินมาคืนเพื่อไถ่ถอนจำนำ
2.) ปล่อยข้าวให้ ธกส.บังคับจำนำยึดหลักประกันไป ส่วนมากชาวนาเลือกวิธีให้ ธกส. บังคับจำนำไป เพราะ "เงินกู้ที่ชาวนาได้รวมกับเงินให้เปล่าอื่นตามนโยบายของพรรค พปชร. มันสูงกว่าราคาตลาด" นั่นเอง (ราคาข้าวล่าสุด 28ก.พ.62 ของกรมการค้าภายในข้าวเจ้าอยู่ที่ 7,600 บาทต่อตัน) ขณะที่ พปชร. โฆษณาว่า ข้าวเจ้าได้เกิน 10,000 บาท ผลชัดเจนคือ ไม่มีชาวนาไปไถ่ถอน และจะปล่อยให้ ธกส.ยึดข้าวที่จำนำไว้
นโยบาย พปชร. เรื่องนี้จะเจอปัญหาหนัก 2 เรื่อง
1.) การระบายข้าว ขายข้าวโดยรัฐ ต้นทางแห่งการทุจริต เสี่ยงประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แบบสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะ "ภาครัฐยังคงเป็นผู้ระบายขายข้าวล็อตใหญ่" ต่างแค่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ใช้กระทรวงพาณิชย์ ส่วน นโยบาย พปชร.ใช้ ธกส. ซึ่งก็คือภาครัฐเช่นกัน ที่ซ้ำร้ายคืองานขายข้าวไม่ใช่งานหลักของธนาคาร ธกส.ด้วย
2.) ชาวนารับความเสี่ยงเต็มๆ ถ้าข้าวที่จำนำไว้ในยุ้งฉางของตนเสียหายจากภัยธรรมชาติต่างๆ และเสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญาโกงเจ้าหนี้ หากข้าวที่จำนำยุ้งฉาง สูญหายหรือจำต้องขายเพื่อนำเงินไปหมุน
น่ากังวลสำหรับนโยบายนี้ ทำไม่เป็น จะเสียหาย เสี่ยงซ้ำรอยจำนำข้าว รบ.ยิ่งลักษณ์
"ผมคิดว่านโยบายประกันรายได้ ของประชาธิปัตย์ ไม่รั่วไหล ตรงเป้ามากกว่า เพราะ เป็นการโอนเงินตรงให้ชาวนาในยอด "เงินส่วนต่าง" ราคาประกัน กับ ราคาขายเฉลี่ย แบบนี้ไม่ต้องเสี่ยงกับการทุจริตสต๊อกข้าว หรือการขายข้าว"