เลือกตั้ง'62: SUPER POLL เผยผลสำรวจถ้าคนไทยหลายใจ ใครเหมาะนายกฯ หลังอาจไม่มีพรรคใดชนะขาดและต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม

ข่าวการเมือง Sunday March 3, 2019 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ถ้าคนไทยหลายใจ ใครเหมาะนายกฯ โดยเมื่อถามว่า ถ้าพรรคการเมืองที่จะเลือกถูกยุบ มีใครในใจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.4 ระบุ ยังไม่มีพรรคใดในใจ ในขณะที่ร้อยละ 41.6 ระบุ มีพรรคสำรองแล้ว เช่น เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เสรีรวมไทย อนาคตใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี และสามารถเลือกคนอื่น ๆ ที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกได้เช่นกัน จากการวิเคราะห์โมเดลความหลายใจในการเลือกของประชาชน พบว่า ในกลุ่มคนที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่ามีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 77.6 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเป็นนักการเมือง อดีตผู้บริหารประเทศ มีหลักการ เคยแก้ปัญหามากมาย รองลงมาคือ ร้อยละ 75.5 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะ เป็นนักธุรกิจ เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมทตัวเอง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร และ ร้อยละ 73.7 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เพราะ เป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย

ที่น่าพิจารณา คือ ในกลุ่มคนที่เห็นว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่า มีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 82.1 ระบุ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะเป็นนักธุรกิจ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รองลงมาคือ ร้อยละ 76.9 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เพราะเป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย และร้อยละ 74.6 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะเป็นนักธุรกิจ เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมทตัวเอง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร

นอกจากนี้ ในกลุ่มคนที่เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่า มีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 85.6 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะเป็นนักธุรกิจ เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมทตัวเอง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร รองลงมาคือ ร้อยละ 81.9 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เพราะ เป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย และร้อยละ 80.9 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นอดีตทหารระดับสูง ผู้บริหารประเทศ และแก้ปัญหามากมาย

สำหรับในกลุ่มคนที่เห็นว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่า มีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 81.9 ระบุ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะเป็นอดีตผู้บริหารประเทศ เด่นด้านคมนาคม และอื่น ๆ รองลงมาคือ ร้อยละ 75.3 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เพราะ เป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย และ ร้อยละ 73.6 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพราะ เป็นนักธุรกิจ เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ค่อยโปรโมทตัวเอง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร

ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มคนที่เห็นว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่ามีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 84.0 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเป็นนักการเมือง อดีตผู้บริหารประเทศ มีหลักการ เคยแก้ปัญหามากมาย รองลงมาคือ ร้อยละ 80.4 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เพราะ เป็นอดีตนายตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมาย และร้อยละ 78.8 ระบุ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะ เป็นอดีตผู้บริหารประเทศ เด่นด้านคมนาคม และอื่น ๆ

นอกจากนี้ ในกลุ่มคนที่เห็นว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ยังเห็นด้วยว่ามีบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นกัน ได้แก่ ร้อยละ 80.8 ระบุ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รองลงมาคือ ร้อยละ 80.4 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ ร้อยละ 80.3 ระบุ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจและการวิเคราะห์จับคู่ในใจของประชาชนบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจไม่ถูกไม่รู้จะเลือกใครดี หรือมีหลายคนอยู่ในใจที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ผลการวิเคราะห์นี้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงการยอมรับได้ของประชาชนต่อกลุ่มบุคคลที่กำลังแข่งขันเลือกตั้งในเวลานี้ ได้ว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาไม่มีพรรคการเมืองใดชนะขาด จนทำให้เกิดรัฐบาลผสม ผลที่ตามมาคือ การจัดตั้งรัฐบาลผสมให้ถูกใจประชาชน ผลวิเคราะห์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าใครเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมาจริง ๆ ควรมีใครบ้างที่น่าจะนำมาเข้าร่วมเพราะถูกอกถูกใจประชาชนและบ้านเมืองน่าจะไปรอดเดินหน้าต่อไปได้

อนึ่ง SUPER POLL สำรวจภาคสนามจากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 2,330 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ