นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้รีบพิจารณาถอดชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกจากบัญชีนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15)
"เรื่องนี้ไม่น่าใช้เวลาเนิ่นนาน เพราะสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. ควรถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐอยู่แล้ว ซึ่งกกต.ควรรู้อยู่แล้ว เพราะมีคำพิพากษาของศาลลงไว้ให้เห็นแล้ว ซึ่งได้นำคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องมายืนยัน"
คำพิพากษาศาลแขวงดุสิต คดีหมายเลขแดงที่ อ. 2183/2558 ระบุว่า "ดังนั้น คสช.จึงเป็นเจ้าพนักงานตามอำนาจที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไว้"
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 7767/2559 ระบุไว้ว่า"ที่จำเลยอ้างว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ไม่ใช่เจ้าพนักงานนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคสช.มีอำนาจดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว"
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3578/2560 ระบุว่า "ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่าไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามประกาศคณะรักษาความสงแบห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์"
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2322 - 2323/2561 มีการย่อไว้ส่วนหนึ่งว่า "จำเลยเป็นเจ้าพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ …"
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากผลของคำพิพากษาข้างต้น ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกคำสั่งตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงเป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (15)