หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย เชิญ 6 พรรคการเมืองตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเรื่องที่ประชาชนและภาคเอกชนให้ความสนใจ
*พรรคชาติพัฒนาชูนโยบายพัฒนา 5G
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศว่า การทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศต้องพัฒนาโครงข่าย 5G เนื่องจากเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยี เพราะประเทศไทยเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมขั้นที่ 4 หากประเทศไทยปรับตัวตามไม่ทันจะแพ้ต่างชาติ เพราะเทคโนโลยีมีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและค้าโดยตรง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ให้ได้ภายใน 2 ปี
การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความสำคัญมากต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น ด้านการแพทย์หรือการศึกษาระหว่างคนจนกับคนรวย เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ของคนจน ต่อไปประชาชนอาจไม่ต้องเดินทางไปรักษาพยาบาลด้วยตัวเองที่โรงพยาบาล แต่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้เป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้าถึงทางการแพทย์
ขณะที่การส่งเสริมการลงทุนในการเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาจะต้องเปลี่ยนวิธีการ ไม่ควรยึดระบบการประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิมๆ ที่ยึดเรื่อง ราคาและผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับเป็นตัวตั้ง แต่ควรปรับมุมมองใหม่ เน้น "Indirect Benefits" คือ ต้องให้ความสำคัญต่อผลตอบแทนทางอ้อมที่จะเกิดขึ้น สามารถลดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน หรือเป็นประโยชน์ทางการศึกษา สาธารณสุข สังคมหรือสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการประมูลโดยยึดผลตอบแทนด้านเม็ดเงินหรือรายได้เข้ารัฐไม่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนา
นอกจากนี้ต้องส่งเสริมภาครัฐ และเอกชน ให้ก้าวทันในการปรับตัวด้านไอทีอย่างจริงจัง โครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่ตอบสนองด้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ที่ผลิตออกมาแล้วหากลดผลกระทบด้านก๊าซเรือนกระจก หรือ โลกร้อน จะได้รับสิทธิ์พิเศษทางภาษีอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นสิทธิ์ประโยชน์ด้านการลงทุน หรือ ภาษี ต้องเน้นผลประโยชน์ทางอ้อม หรือ Indirect Benefits มากกว่าตัวเงิน
*ประชาธิปัตย์ เร่งผลักดัน Connectivity สู่ศูนย์กลางของภูมิภาค
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ปีนี้เราจะเป็นประธานอาเซียน บทบาทของการเป็นประธานอาเซียนต้องเร่งผลักดันสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้นไว้ซึ่งเรียกว่า Connectivity เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง ทั้งระบบคมนาคม ถนน ราง การเชื่อมโยงด้านพลังงาน โทรคมนาคม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแต่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แต่เราต้องวางเป้าหมายให้ EEC เป็นพื้นที่จะดึงธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิที่อิงกับเทคโนโลยีในอนาคต ธุรกิจที่อิงกับพลังงานสะอาด แต่ประชาธิปัตย์จะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบราง ถนน ท่าเรือ เพื่อที่จะดูว่าจะเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ ได้อย่างไรและจะจัดตั้ง 12 มหานครทั่วประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางในการตอบโจทย์ เช่น ขอนแก่นจะเป็นศูนย์ที่รองรับการทำธุรกิจกับ CLMV ด้านตะวันออก และยังมีการเชื่อมโยงหากพม่าเปิดพื้นที่เข้ามาในเรื่อง East West Corridor ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้ายคือประโยชน์ที่ประชาชนและธุรกิจจะได้รับมากกว่าที่จะลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น