(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'62: ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้"ประยุทธ์"ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ข่าวการเมือง Thursday March 14, 2019 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยให้ยุติเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีสถานะเป็น"เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"

นายรักษเกชา แฉ่ฉายเลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารราวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรายชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรค พปชร.เสนอมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตามมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) หรือไม่นั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยพิจารณาวินิจฉัยคำว่า"เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"ว่าหมายความถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ 1.ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฎิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฎิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ 4. มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือ ค่าตอบแทนตามกฎหมาย

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ย่อมมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ให้ความหมายของคำว่า"เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" เมื่อพิจารณาถึงสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฎิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฎิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือ ค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการแผ่นดินตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้า คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 มิใช่ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากแต่เป็นการได้รับแต่งตั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดย คสช.

ประกอบกับตำแหน่งหัวหน้า คสช.มิได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 265 ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่ โดยบัญญัติให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่

แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.มิได้มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และมิได้ลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงมิได้มีสถานะเป็น"เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ดังที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้าง

นายรักษเกชา กล่าวว่า การที่ กกต.ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรค พลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 และมิได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 88 และมาตรา 89 กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 จึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ