เลือกตั้ง'62: "กรณ์"-"ธนาธร"ประชันนโยบายสวัสดิการรัฐ-ปฎิรูประบบภาษี

ข่าวการเมือง Thursday March 14, 2019 19:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกหน้าจอทีวีประชันโยบายด้านสวัสดิการรัฐ และการปฏิรูประบบภาษี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่เกือบทุกพรรคการเมืองชูขึ้นมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

นายกรณ์ กล่าวถึงนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในด้านสวัสดิการที่จะเข้ามาดูแลตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุว่า คาดว่าต้องใช้งบประมาณราวปีละ 3.9 แสนล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะมีงบประมาณในแต่ละปีเพียงพอที่จะนำมาจัดสรรได้ครอบคลุมทั้งหมด และการใช้งบประมาณดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ

"เราประเมินแล้วว่า 3.9 แสนล้านบาท เพียงพอทั้งโครงการ ทำได้ทันที เพราะเคยทำมาแล้ว ประกันรายได้ ไม่ได้ใช้เวลามาก ในการให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเข้าโครงการ ถ้าเลือกตั้ง มี.ค. ตั้งรัฐบาลได้ปลาย พ.ค. พอเดือน ก.ค.ชาวนาไถนาก็รับเงินได้เลย เรื่องเบี้ยผู้สูงอายุมีระบบอยู่แล้ว บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะปรับของรัฐบาลชุดนี้ เติมเงินเป็น 800 และเบิกเป็นเงินสดใช้ในร้านค้า ในชุมชนได้ไม่ต้องเป็นร้านธงฟ้าก็ทำได้ทันที จึงไม่น่ามีปัญหา"นายกรณ์ ระบุ

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ยังมีแนวคิดในการปฏิรูประบบภาษี โดยมองว่าปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของรัฐในรูปของภาษี มาจากเงินเดือนของมนุษย์เงินดือนมากเกินไป ในขณะที่เก็บรายได้จากเศรษฐีทรัพย์สินน้อยเกินไป ดังนั้นควรมีการปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสม

"เช่น ภาษีกำไรจากการขายที่ดิน ปัจจุน มี แต่ไปคำนวณจากราคาประเมินของราชการที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคาขายจริง ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับให้มีการคำนวณภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายจริง นอกจากนี้ จะต่อยอดเรื่องอิทธิพลของทุนผูกขาด เราประกาศว่า มีภาษีจะเก็บจากทุนผูกขาด ที่ผูกขาดด้วยสิทธิประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่ได้จากรัฐ เช่น สัมปทาน ใบอนุญาตชนิดพิเศษที่ทำให้มีสิทธิผูกขาด ทำให้สามารถทำกำไรได้สูงกว่าบริษัททั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้วควรต้องรับภาระภาษีมากขึ้น" นายกรณ์ ระบุ

พร้อมเห็นว่า ปัจจุบันภาระภาษีตกอยู่ที่กลุ่มชนชั้นกลางมากเกินไป ดังนั้นจะเสนอลดภาระภาษีของมนุษย์เงินเดือนลง

"ผู้มีรายได้สูงสุด คืออยู่ในระดับเศรษฐี อัตราภาษีจะขอให้เขายอมรับว่าเราจะคงไว้ตามเดิม ไม่เพิ่ม แต่จะขอไม่ลดอัตราภาษีของผู้มีรายได้สูงสุด คือ 5 ล้านบาทต่อปี แต่มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะลดลง 20% หมายถึงเหลือ 16% ตรงนี้ภาระภาษียังมีแต่ ในสัดส่วนและอัตราที่ลดลง...เราพร้อมจะลดภาระให้ทุกคนที่มีเงินเดือนระดับปานกลาง แต่ทุกคนควรยังอยู่ในระบบภาษีต่อไป นี่คือข้อเสนอในการปฏิรูปภาษี"รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ

นอกจากนี้ จะเดินหน้าผลักดันการจัดเก็บภาษีธุรกิจใหม่ในยุคเทคโนโลยี เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ค ที่ปัจจุบันทุกคนต้องซื้อโฆษณา แต่บริษัทเหล่านี้ ไม่เคยเสียภาษีจากรายได้ที่รับจากคนไทย

"ตรงนี้ ประเทศอินโดฯ เก็บภาษีจากเหล่านี้ได้แล้ว แต่เรายังไม่ขยับ ปชป.จึงบอกว่าถึงเวลา เราต้องสร้างความเป็นธรรมให้ธุรกิจไทยในการไปตามเก็บภาษีกับผู้ที่มีรายได้จากคนไทย" นายกรณ์ระบุ

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคมีนโยบายด้านสวัสดิการที่จะดูแลประชาชนตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยเกษียณ โดยต้องการลดความเหลื่อมล้ำในทุกช่วงวัย และให้ประชาชนมีสวัสดิการที่ดี เพราะมองว่าที่ผ่านมา ต้นเหตุของความขัดแย้ง คือ คนรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำกันมาก คาดวาจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นปีละราว 3.7 แสนล้านบาท

"ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอให้ลดสวัสดิการ มีแต่เสนอให้เพิ่มแตกต่างกันไป นี่คือทิศทางที่ดี เรามองว่าอดีตที่ผ่านมา เราผลักดันความเป็นอยู่ให้เป็นเรื่องของบุคคล รัฐแทบไม่เข้าไปดูแล จึงมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก ผมดีใจที่ครั้งนี้ทุกพรรคพูดถึงการยกระดับสวัสดิการให้ดีขึ้นสำหรับพี่น้องทุกคน" นายธนาธรระบุ

ส่วนนโยบายด้านสวัสดิการรัฐนั้น ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเรียกว่ารัฐสวัสดิการ หรือประชานิยม ทำให้มองว่าเป็นสิ่งน่ากลัว โดยนายกรัฐบาลเองก็ยอมรัยว่าบัตรทองเป็นภาระประเทศ แต่จนถึง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งกลับมีการปรับจาก 3,300 บาท/คน/ปี เป็น 3,800 บาท/คน/ปี ทั้งๆ ที่พูดมาตลอดว่าคือภาระประเทศ

"ระบบที่เป็นอยู่ในประเทศไทย ผมอยากใช้คำหยาบๆ ว่า นายทุนนิยม เอื้อประโยชน์ให้นายทุน พอเราจะให้สวัสดิการแก่คนจนบ้าง ก็โวยวายกันใหญ่ แต่พอให้ประโยชน์นายทุนกลับไม่มีใครพูดอะไร เช่น กรณีนี้ดิวตี้ฟรี ดิจิทัลทีวี ยกผลประโยชน์ให้นายทุน ลดค่าเช่าโครงข่าย คนเป็นหนี้ ธกส. แบบ AAA จ่ายดอกเบี้ย 7% มากกว่า MLR ของตลาด ขณะที่ลดให้ดิจิทัลทีวี เหลือ 1.75% แต่คนจ่ายดอก ธกส.ยังจ่ายคงทั้งต้นทั้งดอก ไม่เบี้ยวหนี้ นี่คือความเหลือมล้ำ ดังนั้นในความเป็นจริงของสังคมไทย คือนายทุนนิยม"นายธนาธร ระบุ

นายธนาธร กล่าว่า สิ่งที่พรรคจะทำคือ ต้องกล้าพูดความจริง เพราะตัวใหญ่ที่เป็นต้นทางของการนำมาซึ่งรัฐสวัสดิการ คือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยพรรคอนาคตใหม่เสนอให้มีการปฏิรูปบีโอไอ จากปัจจุบันที่มี 200 ธุรกิจที่ได้สิทธิบีโอไอ ควรลดลงมาให้เหลือเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของประเทศ ซึ่งไม่ควรเกิน 10 ประเภทธุรกิจ ส่วนที่เหลือต้องเลิกให้การส่งเสริมการลงทุน

ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากบีโอไอ คิดเป็นคนแค่ 1% ของสังคม ซึ่งมีศักยภาพลงทุนในระดับร้อยล้านพันล้าน ขณะที่คนเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ต้องจ่ายภาษี 20% รายเล็กรายน้อยที่ทำธุรกิจต้องจ่ายภาษีทั้งหมด นี่คือวิธีคิดแบบเก่า เพราะภาษีนิติบุคคลในไทยทีจัดเก็บในอัตรา 20% สามารถแข่งขันในอาเซียนได้ หากไม่นับสิงคโปร์ เพราะประเทศอื่นๆ เก็บภาษีสูงกว่าไทย จึงไม่มีความจำเป็นต้องลดภาษีตัวนี้ลง เฉพาะแค่นโยบายบีโอไออย่างเดียวเราลดภาษีให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ