เลือกตั้ง'62: พลังประชารัฐ ยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่นโยบายประชานิยม มั่นใจทำได้จริง ไม่กระทบการลงทุน

ข่าวการเมือง Friday March 15, 2019 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 420-425 บาท ที่เป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจประชารัฐที่พรรคเปิดตัวเพื่อหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนั้นว่า เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้จริง ไม่ใช่นโยบายประชานิยม และได้ชี้แจงข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรีหลังถูกท้วงติง

"ที่ผ่านมา 20 ปี ค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ไม่ได้มากเกินไปแต่เป็นอัตราที่เหมาะสม มีที่มา และช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ" นายอุตตม กล่าว

หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวต้องการยกระดับความสามารถของแรงงานเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ถึงเวลาที่ต้องพัฒนาคุณภาพแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ให้สามารถก้าวข้ามปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เพื่อให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน หากไม่มีการปรับโครงสร้างแรงงานจะทำให้ประเทศเสียโอกาส ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

"เข้าใจดีว่าผู้ประกอบการกังวลใจ แต่ยืนยันว่าทำได้ไม่ส่งผลกระทบ โดยให้ดูเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และการปรับขึ้นนั้นต้องเป็นขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ปรับได้ทันที" นายอุตตม กล่าว

หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า แนวทางดำเนินการนั้นจะมีการตั้งกองทุน และคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยผู้ประกอบการต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย แต่รัฐบาลมีมาตรการจูงใจให้สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักคืนภาษีได้สองเท่า หลังจากแรงงานได้รับการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบแล้วก็จะได้รับค่าจ้างตามเกณฑ์ที่กำหนด

"ไม่กระทบการลงทุนแน่ เพราะทำเป็นขั้นตอน ผมกลับมั่นใจว่าจะดึงดูดการลงทุน เพราะมีแรงงานที่มีความสามารถ ไม่ใช่การลงทุนในโมเดลเดิมๆ" นายอุตตม กล่าว

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาท้วงติงว่าอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนนั้น นายอุตตม กล่าวว่า สิ่งที่นายกฯ แสดงความห่วงใยนั้นเป็นหลักการที่ถูกต้องแล้ว เพราะการนำเสนอนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคต้องไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา ซึ่งเรื่องนี้ทางพรรคได้ชี้แจงข้อมูลถึงแนวทางที่จะดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว

หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า จุดยืนของพรรคไม่เคยเปลี่ยน พยายามนำเสนอนโยบายและบุคลากรเพื่ออาสารับใช้ประชาชน โดยไม่สนใจเรื่องที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

"ใครจะแบ่งขั้วเราไม่สนใจ ไม่อยากให้สร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ทางที่ดีควรนำเสนอนโยบายให้ประชาชนที่เป็นคนตัดสินใจพอใจ ไว้วางใจเลือกเข้าไปบริหารประเทศ" นายอุตตม กล่าว

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร.กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวไม่ใช่นโยบายประชานิยมที่หวังผลในระยะสั้นเท่านั้น แต่แนวทางของพรรคหวังผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น และเมื่อแรงงานมีรายได้มากขึ้นก็จะส่งผลดีต่อการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

"ไม่ใช่นโยบายประชานิยม เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างค่าแรงให้สอดคล้องกับความสามารถ อันที่จริงวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำควรจะอยู่ที่วันละ 412 บาท ไม่ใช่ขึ้นอย่างเสียไม่ได้แค่ 3-5 บาท แต่การพัฒนาอยู่ที่เดิม" นายสนธิรัตน์ กล่าว

เลขาธิการพรรค พปชร.กล่าวว่า อยากให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ไม่อยากให้มีเงื่อนไขทางการเมืองมาเป็นข้อจำกัด อยากให้การแก้ปัญหาเป็นตัวตั้ง เพราะบางเรื่องทำให้การเมืองถึงทางตัน พปชร.อยากเป็นทางออกของปัญหา

"หลังเลือกตั้งคือของจริง ช่วงนี้เป็นเพียงวาทกรรม คะแนนยังไม่เห็นเลย จะไปสมมติกันทำไมว่าใครจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล" นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับแนวทางหาเสียงเลือกตั้งที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ มามีส่วนร่วมนั้น ทางพรรคคงจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม หลังจากครั้งแรกได้ประเดิมเปิดคลิปวีดิโอบนเวทีปราศรัยที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะนำเสนอในรูปแบบใดเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สื่อสารถึงประชาชนมากที่สุด แต่จะต้องเป็นเรื่องที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ