นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เปิดเผยว่า เรื่องที่น่ายินดีที่มีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างล้นหลามในวันนี้ อันเป็นภาพสะท้อนว่าประชาชนต้องการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของประเทศหลังจากถูกปิดกั้นมายาวนานเกือบ 8 ปี การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสำคัญ มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ อนาคตประชาธิปไตยไทย ความรุ่งเรืองก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความสงบสุขของสังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้มีความน่าเป็นห่วงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งหรือวิกฤติทางการเมืองได้เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบอบรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นการเลือกตั้งที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพและการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับขั้วอำนาจ คสช มีการยุบพรรคการเมืองฝ่ายต่อต้าน คสช และความพยายามในการยุบเพิ่มเติมอีก
นอกจากนี้ ยังเป็นการเลือกตั้งที่มีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้าน คสช และฝ่ายเผด็จการ สนับสนุน คสช สถานการณ์ การเลือกตั้งเช่นนี้จะทำให้เกิดการสะสมตัวของวิกฤติความขัดแย้งที่รอวันปะทุ สังคมไทยสามารถบรรเทาปัญหาวิกฤติในอนาคตได้ด้วยการยึดมั่นในแนวทางการแก้ปัญหาที่ยึดหลักสันติประชาธรรม คือ ยึดสันติวิธี ยึดหลักการประชาธิปไตย ยึดผลประโยชน์ประชาชน ยึดถือความเป็นธรรมและมีระบบยุติธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ประชาชน ความสงบสุขความปรองดองสมานฉันท์ ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นายอนุสรณ์ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องและความคิดเห็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ขอเรียกร้องให้ สำนักงาน กกต ชี้แจงรายละเอียดระบบในการรักษาความปลอดภัยของความหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เปิดเผยรายละเอียดขั้นตอนและกลไกในการดูแลให้การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะ กกต และ รัฐบาล ต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และ ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งตามหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมด้วย
สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช ต้องงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมมีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของประเทศ และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของการลงทุน ความก้าวหน้าและความสงบสุขของสังคม
ขอให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน อันเป็นการแสดงถึงความเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคการเมืองต้องมีสัญญาประชาคมร่วมกันว่า ทำอย่างไรประชาธิปไตยจะไม่ล้มเหลวอีกและเป็นเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจรัฐประหารอีก
ขอให้ประชาชนไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย เพิ่มการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบการเมือง สามารถแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ รวมทั้งนำมาสู่ความปรองดองสมานฉันท์หลังการเลือกตั้งด้วยการเลือกพรรคการเมืองที่ยึดถือหลักการประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม
ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่เป็น "รัฐบาลรักษาการ" เพื่อแสดงความเคารพต่อประชาชนเจ้าของประเทศผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย ไม่ดำเนินการอนุมัติโครงการต่างๆที่มีภาระผูกพันต่อรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง หรือ ใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หรืออนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อนุมัติสัมปทานต่างๆอย่างเร่งรีบเร่งรัด โดยปราศจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ โครงการและสัมปทานต่างๆที่กำลังรอพิจารณาอยู่นั้นควรส่งมอบต่อให้คณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งจะอยู่ภายใต้ระบบที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายค้าน
ขอเรียกร้องให้เครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยทั้งหลายผสานกำลังเพื่อต่อต้านกลโกงการเลือกตั้งในทุกรูปแบบ และ เตรียมพร้อมในการเคลื่อนไหวคัดค้านผลการเลือกตั้งที่เกิดจากการทุจริตและโกงการเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ
ขอให้ประชาชนใช้การเลือกตั้งครั้งนี้ในการหยุดยั้งนโยบายที่เพิ่มอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ หยุดยั้งนโยบายสร้างความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ หยุดยั้งกฎหมายที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน หยุดยั้งการให้สิทธิประโยชน์ทุนข้ามชาติที่เกินพอดีจนสร้างไม่เท่าเทียมในการแข่งขันต่อกิจการของคนไทย ทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและมีต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สูงเกินไป หยุดยั้งนโยบายประชานิยมที่ขาดความรับผิดชอบและละเมิดต่อกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรุนแรง มีการวางยุทธศาสตร์ ระบบและกลไกต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ และนอกรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจโดย คสช
ทางเดียวที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ คือ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้พรรคการเมืองแนวร่วมประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเท่านั้น เปลี่ยน "การสร้างประชาธิปไตยโดยกระจายอำนาจจากบนสู่ล่าง" เป็น "สร้างประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้านหรือชุมชนเพื่อรองรับประชาธิปไตยขั้นประเทศ" พร้อมผลักดันการปฏิรูปในมิติต่างๆผ่านกลไกการเลือกตั้ง เป็น การปฏิรูปภายใต้ประชาธิปไตย
ประชาชนต้องตระหนักว่า หลังการเลือกตั้งแล้ว ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ จึงเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต้องร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ "ประชาธิปไตยเต็มใบ" ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นพื้นฐานของสถาปนา "ระบอบประชาธิปไตย" ที่มั่นคงเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคน