นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นเอกสารเพิ่มเติม กรณีขอให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 78 วรรคหนึ่งหรือไม่ และตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมิใช่สมาชิก กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรค พปชร.ในลักษณะที่ทำให้พรรค พปชร.หรือสมาชิกพรรค พปชร.ขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ตามความใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 หรือไม่
โดยข้อมูลที่นายเรืองไกร นำมายื่นให้ กกต.เพิ่มเติมในวันนี้ ได้แก่ ข้อความการปราศรัยของนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค พปชร.ที่สวนรถไฟ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.62 ที่สื่อมวลชนนำมาเผยแพร่ ว่า "แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ออกปราศรัย แต่ก็ได้ให้คำปรึกษาพรรคอย่างใกล้ชิด ให้รับฟังปัญหานำมาทำนโยบายใหม่ๆ โดยนโยบายใหม่ๆ ที่ออกมานั้นตรงใจประชาชน เช่น นโยบายที่ชาวนายิ้ม ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา นโยบายเติมเงินบาทแรกให้ชาวนา ช่วยค่าปลูกไร่ละ 1,500 ค่าเกี่ยวไร่ละ 2,000 และค่าเก็บตันละ 1,500"
นอกจากนี้ ยังมีข้อความในคลิปวิดีโอของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรค พปชร. นำไปเปิดบนเวทีปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62
คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่ 8861/2550 ลงวันที่ 19 ธ.ค.50 กรณีที่ กกต.ร้องคัดค้านผู้สมัครฯ พรรคไทยร่ำรวย รับจ้างเป็นวิทยากรสอนอิสลามศึกษา ที่โรงเรียนบาโงระนะ จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามมาตรา 102(11) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ 58/2560 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.60 และคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2561 เมื่อวันที่ 26 ม.ค.61 ที่ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.สามารถถูกตรวจสอบได้โดยการใช้สิทธิทางศาลและผู้ตรวจการแผ่นดิน และคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่ 999/2562 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.62 ที่ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เป็นคำสั่งทางการเมือง
นายเรืองไกร กล่าวว่า ขอให้ กกต.เร่งดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน ไม่ให้เกิดปัญหาคาราคาซัง ซึ่งจะส่งผลต่อการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเลือก