เลือกตั้ง'62: ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาใน 2 คดีที่เกี่ยวกับการสรรหา สว. ชี้เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Thursday March 21, 2019 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับพิจารณาคำฟ้องในคดีที่เกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จำนวน 2 คดี

โดยคดีแรก คณะราษฎรไทยแห่งชาติ ที่มีนายพลภาขุน เศรษฐญาบดี กับพวกรวม 34 คน ยื่นฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ซึ่งฟ้องว่า การที่ คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 269 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 90 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 รวมทั้งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 43 มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 58 มาตรา 63 และมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์/นโยบายของ คสช.ที่ประกาศต่อสาธารณชนไว้ โดยขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแต่งตั้งบุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมืองเป็นคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ต้องด้วยมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีการฟ้องคดีเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่เป็นเรื่องการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่อคดีนี้ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบสี่ไว้พิจารณาได้ จึงไม่มีกรณีที่ต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบสี่อ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับแก่คดีนี้แต่ประการใด ศาลจึงไม่จำต้องดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบสี่

คดีที่สอง นายเอกราช อุดมอำนวย ยื่นฟ้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา โดยฟ้องว่า พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 269 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ดำเนินการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โดยไม่เปิดเผยขั้นตอนและวิธีการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งให้ประชาชนทราบทำให้ประชาชนทราบข้อมูลไม่ครบถ้วน อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีเปิดเผยขั้นตอนและวิธีการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว รายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา รายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการเลือกตั้งจัดให้การเลือกตั้ง และรายชื่อบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา เป็นกระบวนการขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มิใช่การกระทำทางปกครองหรือการใช้อำนาจทางปกครอง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

ดังนั้นศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ