Political View: 1 คะแนนเสียงกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย วัดใจ 51 ล้านเสียงชี้ชะตาอนาคตประเทศ

ข่าวการเมือง Friday March 22, 2019 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในสนามแข่งรถ โค้งสุดท้ายก่อนเข้าทางตรงสู่เส้นชัย ถือเป็นจุดหลักที่นักแข่งทุกคนจะขับให้ดีที่สุดเพื่อคว้าชัยชนะ เช่นเดียวกับ การเลือกตั้ง’62 ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหา 24 มีนาคมนี้ ทุกพรรคการเมืองก็เดินหน้า หวังโกยที่นั่ง ส.ส. ให้ได้มากที่สุด ทุกคะแนนเสียงของประชาชนจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศอีกครั้ง เพราะถือเป็นการเปลี่ยนผ่านการเป็นประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่ว่างเว้นมาถึง 5 ปีเต็ม

ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ ปี 60 ถูกออกแบบให้ทุกพรรคการเมืองมีโอกาสแจ้งเกิดในสภาฯ ทุกคะแนนเสียงที่แต่ละพรรค ทุ่มเทพละกำลัง เดินหน้าหาเสียงจะไม่เสียเปล่า เพราะจะถูกนำไปคิดเป็นคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จึงทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ยากที่จะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้คะแนนเสียงอย่างถล่มทลายจนนำไปสู่จัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว แต่จะทำให้เกิดภาพการเจรจาต่อรอง จับมือร่วมกันจัดตั้ง"รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง"

ในบรรดาพรรคการเมือง 44 พรรคที่มีสิทธิเสนอรายชื่อบุคคลให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จุดโฟกันอยู่ที่เพียง 2-3 พรรคเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจุดยืนในการเสนอชื่อนายกฯก็แตกต่างกันออกไป

พรรคเพื่อไทย ที่แม้ว่าพรรคเครือข่ายอย่างไทยรักษาชาติจะถูกยุบพรรค แต่ยังคงมีพรรคแนวร่วม เช่น พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ เป็นต้น ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ต้องมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน และยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่จับมือกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่ออกตัวประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยจะไม่ร่วมรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับแบไต๋อีกอย่างว่าหากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสามารถร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐได้ แต่ต้องไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ห หรือมีสัญลักษณ์ของการสืบทอดอำนาจ สะท้อนจุดยืนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีว่าพรรคใดสามารถรวบรวมคะแนนเสียงในสภาได้ 250 ที่นั่งให้เสนอไปยังสมาชิกวุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามที่ส.ส.เสนอ

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่ชูพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แม้อาจไม่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นอันดับ 1 แต่ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นพรรคที่โอกาสจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด ด้วยเสียง ส.ว. 250 เสียงนตุนอยู่ในมือและพร้อมให้การสนับสนุน เพราะ ส.ว.เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ในมุมมองนักวิชาการที่มองอนาคตหลังการเลือกตั้งอย่างนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นายกรัฐมนตรีจะมาจากว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคไม่เกิน 5-6 พรรค แต่โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ ที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ พรรคพลังประชารัฐต้องชนะการเลือกตั้งเท่านั้น และพรรคภูมิใจไทยอาจเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะไม่มีพรรคใดคว้าที่นั่งในสภาฯ เกิน 250 เสียง เพราะผู้ที่มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก 6.4 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคการเมืองใหม่ จึงทำให้เกิดการเมืองแบบ 3 ก๊กในการตั้งรัฐบาล คือ ก๊กที่ 1 พรรคการเมืองและ ส.ว.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก๊กที่ 2 พรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่าย และก๊กที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์

และแม้จะมีคำตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติไปแล้ว แต่นายปริญญา ยังเชื่อว่า แม้คะแนนอาจจะไม่เทไปยังพรรคเพื่อไทย หรือพรรคในเครือข่าย แต่อาจไปเพิ่มคะแนนให้กับพรรคการเมืองๆ อื่นที่มีทิศทางการเมืองในแนวเดียวกัน เช่น พรรคอนาคตใหม่

นายปริญญา มองต่อว่า การเลือกตั้งคราวนี้ จะเป็นการตัดสินว่าประชาชนจะตัดสินใจเลือกให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ หรือ เลือกในทางเลือกอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ หรือแม้แต่พรรคเศรษฐกิจใหม่

"ประเด็นคือ จะเอาพล.อ.ประยุทธ์ เป็นต่อหรือไม่ ถ้าไม่เอาปุ๊ป มีอีกหลายช้อยส์ มีเพื่อไทย อนาคตใหม่ ตอนนี้ประชาธิปัตย์ก็ด้วยแล้ว มีมิ่งขวัญด้วย มันมีหลายช้อยส์ มันกลายเป็นข้างที่ชัดเจนแบบนี้ ส่วนข้างที่เอาพลเอกประยุทธ์ มันมีหลายขั้ว ความยากคือ 2 ขั้วนี้รวมไม่ได้ ทำให้เขาจะแพ้อีกขั้ว"

ด้านนายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า หากไม่ต้องการเห็นการเมืองหลายก๊ก ให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 เชิญพรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล และหากเสียงในสภาฯยังไม่พออาจเชิญพรรคอื่นมาร่วมด้วย และนำนโยบายพรรคเหล่านั้นมาบริหารประเทศ เพราะมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องการความสงบและความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

และสิ่งที่ต้องการหลังการเลือกตั้ง ในมุมมองนายโคทม ทุกฝ่ายต้องเคารพในหลักการให้พรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ต้องมีเสียง ส.ส. สนับสนุนเกิน 250 เสียง ถึงจะมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะต้องเป็น ส.ส.

สำหรับตัวแปรที่อาจทำให้เกิดทางตันหรือเดดล็อกทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง สะท้อนว่า โอกาสที่จะเกิดเดดล็อกมีอยู่ 2 กรณีคือ พรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนเสียงเกิน 126 คะแน แต่ไม่รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะได้เป็นนายกฯ เพราะมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.250 คน แต่จะบริหารประเทศยากมาก และจะมีปัญหาในการออกกฎหมาย

และอีกกรณีคือ พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะรวบรวมคะแนนเสียงไม่ถึง 125 เสียง ซึ่งก็จะเกิดปัญหา ในกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงมากกว่า แล้วขอจัดตั้งรัฐบาลเอง แต่อาจเกิดปัญหาว่า ส.ว. 250 คน พร้อมจะสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

นายสมชาย จึงมองว่าตัวแปรสำคัญเป็นเรื่องของผลคะแนนว่า ใครจะได้มากกว่ากันระหว่างพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ เพราะเสียงจากประชาชนน่าจะทำให้ทั้ง 2 พรรคมีท่าทีที่เปลี่ยนไปได้

ทั้ง 3 มุมองเป็นการสะท้อนจากคะแนนเสียงที่ประชาชนมอบฉันทานุมัติ ให้กับการเลือก"คนที่รัก พรรคที่ชอบ"เพื่อหวังเข้าไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่บริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย แต่กว่าจะเห็นหน้าค่าตารัฐบาลชุดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้จะรวมคะแนนเสียงได้ แต่ต้องไปฝ่าด่านของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่เข้ามามีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ทั้งนี้ ท่าทีของหลายพรรคการเมืองมีทิศทางที่สอดคล้องกันไม่ว่าจะเป็นจาก พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ หรือแม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการให้กระบวนการเลือกนายกมนตรีเป็นการตัดสินใจของ ส.ส. ด้วยกันเอง และ เห็นตรงกันว่าสมาชิกวุฒิสภา ควรจะให้ความเห็นชอบตามที่ ส.ส.ได้เลือกไว้ ไม่ควรฝืนทางลม

คำตอบแรก...ที่จะทำให้ส.ว.ต้องฉุกคิด คือ การออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งจากการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ถึง 86.98 % และเชื่อว่าวันที่ 24 มีนาคมนี้ ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ มีจำนวนกว่า 51 ล้านคน โดยกลุ่มช่วงอายุ 26- 45 ปี เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด จำนวน 19,583,472 คน รองลงมาคือช่วงอายุ 46-60 ปี มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,444,663 คน ส่วนช่วงอายุ 18-25 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่ม First Vote มีจำนวนผู้ที่มีสิทธิ 7,339,772 คน

โดยในวันใช้สิทธิล่วงหน้านอกแขตจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อ 17 มี.ค. ทีผ่านมา มีจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 2.6 ล้านคน และมีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 86.98%

อนาคตประเทศจะเป็นอย่างไร จาก 1 คะแนนเสียง จะเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากการปฏิวัติมาตลอด 5 ปี เพื่อกลับไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. จะเป็นสิ่งที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ