นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าพรรคเพื่อไทยเสนอสูตรให้พรรคภูมิใจไทยพิจารณาเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยจะให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นนายกรัฐมนตรีว่า พรรคเพื่อไทยไม่ยึดติดและไม่มีเงื่อนไข ขอเพียงให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีตามที่ได้หาเสียงไว้
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับทุกพรรคการเมืองเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลยกเว้นพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าได้พูดคุยกับใครไว้บ้าง เพราะยังมีเวลากว่าจะถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ในวันที่ 9 พ.ค.62
ส่วนการเจรจากับพรรคอนาคตใหม่ไปด้วยกันได้ เพราะมีจุดยืนตรงกันทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง ส่วนการยกเลิกมาตรา 279 เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยพร้อมตอบรับข้อเสนอ หากเป็นคำสั่งหรือกฎหมายที่ไม่เกิดประโยชน์และเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาของประชาชน
"ผมยอมรับว่าได้หารือกับพรรคการเมืองอื่นๆ ไว้บ้างแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าคุยกับใครบ้าง ขณะที่พรรคการเมืองอื่นอาจต้องคุยกันภายในพรรคของเขาด้วย"นายภูมิธรรม กล่าว
นายภูมิธรรม กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าพรรคมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อนเพราะได้จำนวน ส.ส. มากถึง 137 ไม่ใช่ถือคะแนนนิยมที่ประชาชนลงคะแนนให้ตามที่พรรคพลังประชารัฐกล่าวอ้าง ทั้ง ๆ ที่ได้จำนวน ส.ส.เขต เพียง 90 เสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยยืนยันจะไม่รวมงานการเมืองกับ 2 พรรคการเมืองที่สนับสนุนการยึดอำนาจและรัฐประหาร
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องยึด 2 ปัจจัย คือ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร 251 เสียง และได้รับเสียงสนับสนุน 376 เสียงในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี หากทำไม่ข้อใดข้อหนึ่งก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ
สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรียกแกนนำพรรคการเมืองไปเจรจาประสากนารจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าเป็นจริง แต่ถ้าเป็นจริงอาจสร้างความเสียหาย เพราะไม่เคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เลือกตั้ง
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า พรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 350 เขต แต่ได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่าพรรคที่ลงสมัครแค่ 250 เขตแล้วออกมาบอกว่าตัวเองได้คะแนนนิยมจากคนทั้งประเทศมากกว่าควรจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ระบอบรัฐสภาไม่ได้คิดแบบนั้น
ประเด็นแรก คือ กติกาที่บิดเบี้ยว ตั้งใจออกแบบให้นำระบบ ส.ส.พึงมีมาคิด เพื่อตัดคะแนนพรรคที่คนนิยม และได้จำนวนส.ส.เขตมากที่สุด เพื่อทำให้ไ ด้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยที่สุด นี่คือกับดักอย่างหนึ่งที่จงใจให้เกิดความยากลำบากในการแข่งขัน เพราะไม่ต้องการให้พรรคที่มีคะแนนนิยมที่แสดงผ่านจำนวนเขตมากเป็นพรรคที่แข็งแรงเกินไป
ประเด็นที่ 2 คือการโหวตในสภา เมื่อคิดจาก ส.ส. 1 คน มีคะแนนโหวตเท่ากัน 1 คะแนน เสียงข้างมากในสภา จึงมีค่าเท่ากับ ส.ส.ที่โหวตเป็นจำนวนมากกว่าอีกฝ่าย ไม่ใช่การคิดคะแนนจาก ส.ส.คนไหนได้คะแนนเลือกตั้งมาเท่าไหร่แล้วจะกลายเป็นเสียงข้างมาก
"แข่งขันในสนามเดียวกัน ออกแบบกติกาเอาเปรียบคนอื่นมากมายมหาศาล ตั้งแต่จุดสตาร์ทยันเส้นชัย แต่จำนวน ส.ส. ก็ยังแพ้อยู่ดีเข้าเส้นชัยเป็นที่ 2 แต่จะขอรับเหรียญทองบนแท่นที่ 1"คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ