รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ฝ่ายกฎหมายของพรรค ร่วมกันอ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง "ความเห็นต่อการจัดการเลือกตั้ง และจุดยืนการจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชน"
โดยระบุว่า จากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาที่ออกมาในเบื้องต้นสะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ดังนั้น การที่พรรคการเมือง บางพรรคจะร่วมตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปนั้น น่าจะเป็นการขัดต่อเจตนารมย์ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งรัฐบาลเช่นนี้จะไม่ได้ความยอมรับจากประชาชนและจะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ของประชาชนได้เลย
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองคำนึงถึงประเทศชาติและประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองของตน และพรรคพร้อมที่จะทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองอย่างมี ความรับผิดชอบ และ สร้างสรรค์เพื่อให้เจตนารมย์ของประชาชนได้รับการเคารพและปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไข
จากผลจากการเลือกตั้งได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่จะทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เอง และผลที่จะเกิดขึ้นต่อการเป็นรัฐบาลผสม ที่จะทำให้ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเรื่องดังกล่าวพรรคเพื่อไทย ได้คัดค้านและแสดงความไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น
เมื่อพิจารณาจากผลการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงเจตนารมย์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งจะเห็นได้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีการแบ่งฝ่ายของประชาชนและของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนให้หัวหน้า คสช. สืบทอดอำนาจต่อไป โดยมีพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ กับฝ่ายประชาธิปไตยที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจดังกล่าว โดยมีพรรคเพื่อไทยและพรรคแนวร่วมอื่นๆ อีก หลายพรรค ซึ่งผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการขณะนับคะแนนได้ประมาณ 95% ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดประมาณ 137 คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส. ประมาณ 118 คน จึงต้องถือว่าพรรคเพื่อไทยได้รับฉันทามติจากประชาชน เพื่อให้เข้ามาบริหารประเทศ
แต่พรรคพลังประชารัฐกลับอ้างคะแนนเสียงรวมของประชาชน ทั้งที่คะแนนดังกล่าวได้แปลงมาเป็นจำนวน ส.ส. แล้ว นอกจากนี้เมื่อรวมจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ประกาศชัดเจนก่อนการเลือกตั้งว่าคัดค้านการสืบทอดอำนาจ ก็มีจำนวน ส.ส. มากกว่า 250 คน และมีจำนวนคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงของพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจกว่า 6 ล้านเสียง
ขณะที่การดำเนินการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในครั้งนี้ มีปัญหามาตั้งแต่ต้น เริ่มจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้ง มีอิทธิพลต่อการกำหนดกติกา กำหนดกรรมการ รวมทั้งใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งหลายครั้ง
และในระหว่างการเลือกตั้งยังมีความไม่โปร่งใสในหลายขั้นตอน ทั้งกระบวนการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่ไม่ระบุจำนวนและสถานที่พิมพ์ ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ การปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการเลือกตั้งอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะในรูปแบบ ของการซื้อเสียง การใช้อำนาจรัฐ การใช้อิทธิพลข่มขู่คุกคามผู้สมัครและผู้สนับสนุนในหลายพื้นที่ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวแพร่หลายโดยทั่วไป
จนถึงขั้นตอนการนับคะแนน และการประกาศผลคะแนน ที่คะแนนจากหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงกับที่มีการรายงานผล มีคะแนนมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ อันแสดงให้เห็นว่า มีการใช้อำนาจรัฐ เข้ามาแทรกแซงในกระบวนการจัดการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด จนเป็นที่มาของการที่ประชาชนได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าชื่อถอดถอน กกต. ขณะนี้กว่า 700,000 คนแล้ว
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศในเวลา 10.00 น.ซึ่งทุกคนจะสะท้อนปัญหาที่ได้รับจากการเลือกตั้ง รวบรวมส่งให้กกต.ดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับและเป็นธรรม ส่วนการจับมือพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยในการจัดตั้งรัฐบาลมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังมีเวลาถึงวันที่ 9 พ.ค.ตามที่กฎหมายกำหนด และพรรคเพื่อไทยยังมีความหวังและมีความมั่นใจว่าจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ โดยจะมีข่าวดีในเร็ววันนี้ เพราะเชื่อว่าขณะนี้พรรคพลังประชารัฐยังไม่สามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้ 251 เสียง