(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'62: หลายสถาบันการศึกษาออกแถลงการณ์จี้กกต.ชี้แจง-แสดงความรับผิดชอบ พร้อมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน

ข่าวการเมือง Friday March 29, 2019 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นิสิตและสภานักศึกษาหลายสถาบันการศึกษา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯลฯ ออกแถลงการณ์ขอให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งทบทวนบทบาทหน้าที่ในการจัดเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่มีรายงานข่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ห้ามนิสิตทำกิจกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จากทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นพื้นที่การเนียนการสอน รวมทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่สามารถจัดกิจกรรมลงชื่อ ถอดถอน กกต. ได้ เพราะไม่ได้ขอทางมหาวิทยาลัยไว้ก่อน จึงได้ยกเลิกกิจกรรมลงชื่อ ในเวลา 12.30-14.00 แต่ทาง มช.ได้เพิ่มช่องทางการการร่วมลงชื่อ ผ่านทาง QR ได้ โดยได้ติด QR ตามบอร์ดคณะต่างๆ ทุกคณะ

นอกจากนี้ ทางเฟซบุ๊ค "เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม" ได้มีการจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชน 1 ล้านรายชื่อเพื่อถอดถอน กกต. โดยมีการตั้งโต๊ะลงชื่อตามจุดในพื้นที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ มอ. ปัตตานี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

ล่าสุดเวลา 13.11 น. มีผู้ลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์ถอดถอน กกต. ผ่าน www.change.org จำนวน 813,147 คน

ขณะที่ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล ระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อพิรุธหลายประการที่ส่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นไปอย่างอิสระ สุจริต และยุติธรรม ซึ่งส่งผลต่อความชอบธรรมของพรรคการเมืองที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้นทาง คนส. ขอแสดงท่าทีและข้อเสนอให้ กกต. เปิดเผยคะแนนเสียงจากทุกหน่วยเลือกตั้งให้ประชาชน สื่อมวลชน รวมถึงพรรคการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง สามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้อย่างสะดวกและโดยง่าย ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกลับไปร้องขอดูคะแนนในแต่ละจังหวัด เพราะคะแนนทั้งหมดได้ถูกรายงานและมารวมที่ กกต.กลาง แล้ว โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้งบประมาณถึง 5,800 ล้านบาท และเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารก็ก้าวหน้าขึ้นมาก กกต. ยิ่งต้องมีระบบฐานข้อมูลที่สามารถประมวลผลและเผยแพร่ได้ หากไม่มีการเปิดเผยคะแนนก็จะยิ่งตอกย้ำว่า กกต. ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง ทำให้ผลการเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือทั้งในสายตาคนไทยและนานาอารยประเทศ และมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลโดยตรง

" กกต. ไม่เพียงแต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ หากแต่ยังมีพฤติการณ์ส่อไปในลักษณะไม่โปร่งใสและเที่ยงธรรม ดังกรณีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่นอกจากจะมีความล่าช้าอย่างมาก ยังมีความขัดแย้งกับการประกาศผลก่อนหน้าหลายประการโดยไม่มีคำชี้แจง โดยเฉพาะกรณีร้อยละของผู้มาลงคะแนนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่นับเพิ่มเข้ามา จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าปัจจัยชี้ขาดต่อคะแนนเสียงของพรรคการเมืองและความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ไม่ได้มาจากคะแนนเสียงของประชาชน หากแต่มาจากการเล่นแร่แปรธาตุหรือ "อภินิหารหีบเลือกตั้ง" ของ กกต."

หากการเปิดเผยผลคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงกับหลักฐานจากผู้สังเกตการณ์และพยานในการนับคะแนนแต่ละหน่วยจากภาคประชาชน กกต. ควรจัดให้มีการนับคะแนนใหม่อย่างโปร่งใส อำนาจในการนับคะแนนใหม่นี้เป็นอำนาจที่ กกต. สามารถทำได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 124 โดยที่การนับคะแนนใหม่เป็นคนละกรณีกับการเลือกตั้งใหม่

คนส. ขอเชิญชวนประชาชนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติ เรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลการนับคะแนนที่โปร่งใสในรูปแบบต่างๆ เช่น การสื่อสารในสังคมออนไลน์ เราไม่ต้องการให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายเพื่อเป็นข้ออ้างให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และส่งผลให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อไป

คนส. ขอย้ำว่าแม้การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. แต่งตั้งที่สามารถมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หรือ กกต. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แต่ประชาชนคนไทยยังยอมเข้าสู่การเลือกตั้งตามกติกาเช่นนี้เพราะคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นขั้นตอนแรกของการได้อำนาจกลับคืนและพาสังคมไทยกลับสู่สภาวะปกติ คสช. และ กกต. จึงต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน อย่าทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ด้วยการจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสและไม่เที่ยงธรรม ที่มีแต่จะสร้างความร้าวลึกในสังคมไทยยิ่งขึ้นจนยากจะเยียวยา

ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนที่ประสงค์จะใช้อำนาจของตนผ่านการเลือกตัวแทนและผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลตามหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียงของระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรที่ประชาชนยืนต่อคิวเป็นระยะเวลานานด้วยความมุ่งมั่นอดทน การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ประชาชนมาใช้สิทธิสูงกว่าครั้งที่ผ่านมา หรือการเลือกตั้งตามกำหนดที่ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับไปใช้สิทธิในเขตที่ตนเองมีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น คะแนนเสียงของประชาชนทุกคะแนนจึงต้องได้รับความเคารพ ไม่ถูกบิดเบือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ