เลือกตั้ง'62: กกต.แจง 4 ข้อสงสัยเรื่องผลคะแนน ยันไม่แต่งตัวเลข คาดแจกใบแดงก่อน 9 พ.ค.

ข่าวการเมือง Friday March 29, 2019 18:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงใน 4 ประเด็นที่มีข้อสงสัย 1. กรณีมีผู้สงสัยว่า ตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประธาน กกต.แถลงในวันที่ 24 มี.ค. จำนวน 51,205,624 คน กับตัวเลขที่ตนแถลงเมื่อวันที่ 28 มี.ค. จำนวน 51,239,638 คน เพิ่มขึ้น 34,014 คนอย่างผิดปกตินั้น ประธาน กกต.แถลง เป็นตัวเลขจากการคีย์ข้อมูลเข้ามาของกรรมการประจำหน่วยผ่านระบบแรพพิดรีพอร์ต และเป็นข้อมูลยังไม่ 100% แต่ตัวเลขที่ตนแถลงเมื่อวานเป็นข้อมูลจากเอกสารการรายงานผลอย่างเป็นทางการ 100% ของ 350 เขตเลือกตั้งส่งเข้ามา

2. กรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ กกต.แถลงเมื่อวันที่ 28 มี.ค. จึงเพิ่มขึ้นถึง 4.5 ล้านฉบับ เมื่อเทียบกับจำนวน 93% ที่ประธาน กกต.แถลงเมื่อวันที่ 24 มี.ค.นั้น ขอชี้แจงว่า ของเดิมเป็นข้อมูลตามที่ระบบรายงานผล 93% แต่ที่ กกต.แถลงเมื่อวันที่ 28 มี.ค. รวมผลการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้มาใช้สิทธิราว 2.3 ล้าน รวมถึงเลือกตั้งนอกราชที่มีผู้มาใช้สิทธิราว 1 แสนคน เมื่อตัวเลขทบเข้าไปทำให้จำนวนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล เพราะกระบวนการทั้งหมดมีการตรวจสอบตั้งแต่หน่วยเลือกตั้ง มีการประกาศผลที่หน่วยเลือกตั้ง จำนวนบัตรที่ใช้ บัตรที่เหลือ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ และเชื่อว่าผู้สมัครทุกคนได้บันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้ทั้งหมดแล้ว ไม่มีใครไปเพิ่มผลคะแนนตัวเลขได้

3. กรณีมีข้อสงสัยว่าทำไมผู้มาใช้สิทธิจำนวน 38,268,375 คน กับบัตรเลือกตั้งที่ใช้ 38,268,366 ใบ ต่างกันอยู่ 9 ใบ เป็นเครื่องยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ตกแต่งตัวเลข มาอย่างไรก็รายงานอย่างนั้น ส่วนจำนวนบัตรเลือกตั้งที่น้อยกว่าจำนวนผู้มีสิทธิ 9 ใบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เท่าที่มีการพูดคุยกันในคณะทำงานคาดว่าการบันทึกข้อมูลผู้มาใช้สิทธิลงในแบบส.ส. 1/3 อาจคลาดเคลื่อน หรืออาจมีการนับคลาดเคลื่อน เพราะต่างกันแค่ 9 ใบ แต่ยืนยันว่าไม่กระทบต่อคะแนนของผู้สมัครแต่อย่างใด ซี่ง กกต.จะได้ตรวจสอบว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นที่ไหนบ้าง เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

4. เรื่องจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้มากกว่าจำนวนรวมของบัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน โดยต่างกันอยู่ 2 ใบ จากการพูดคุยในคณะทำงาน อาจมีการนับบัตรที่ใช้ไปจากต้นขั้วบัตรคลาดเคลื่อนไป แต่ก็จะตรวจสอบก่อนว่าเกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้งใด และจะรายงานให้กกต. พิจารณาดำเนินการต่อไป

ส่วนกรณีที่มีผู้สมัคร ส.ส. ร้องเรื่องการวินิจฉัยบัตรของกรรมการประจำหน่วย และขอให้มีการนับคะแนนใหม่นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า การร้องให้นับคะแนนใหม่เป็นรายหน่วยสามารถยื่นร้องได้ ซึ่งขณะนี้มีการร้องคัดค้านการเลือกตั้งจำนวน 186 คดี และ 7 เรื่องเป็นการคัดค้านการนับคะแนน แต่ถ้าจะให้นับใหม่ทั้งประเทศนั้น กฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ อย่างไรก็ตาม ในการร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ หากไม่ร้องในระหว่างที่มีการนับคะแนนก็สามารถร้องภายหลังการเลือกตั้งได้

กรณีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการวันที่ 9 พ.ค.62 นั้น เลขาธิการ กกต.ชี้แจงว่า กฎหมายกำหนดว่าให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหลังกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะครบในวันที่ 9 พ.ค.หากเห็นว่าสุจริตก็ให้ประกาศผล ซึ่งคาดว่าสำนักงาน กกต.จะเสนอให้ กกต.พิจารณาภายในวันที่ 9 พ.ค.

เบื้องต้นได้เร่งรัดกลุ่มภารกิจสืบสวนสอบสวนในกรณีเรื่องทุจริตการเลือกตั้ง และกฎหมายใหม่ไม่เปิดโอกาสให้ทยอยประกาศผล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะให้ใบแดงก่อนวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งอาจทำให้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่สื่อมวลชนคำนวณอาจปรับเปลี่ยนได้หากมีการเลือกตั้งใหม่

ขณะที่การสั่งไม่นับคะแนนบัตรเลือกตั้ง 1,542 ใบจากนิวซีแลนด์ นายกฤช ชี้แจงว่า เมื่อดูกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 114 กฎหมายได้เขียนบังคับให้ กกต.ต้องวินิจฉัยอย่างนั้น ทั้งที่ กกต.เข้าใจเรื่องสิทธิของประชาชนและไม่อยากทำอย่างนั้น รวมทั้งได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายใน 7 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 เม.ย. จะทราบว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่า กกต.ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ