นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวภายหลังหารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.เกี่ยวกับวิธีคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่า ในการยกร่างกฎหมายประกอบกรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีสูตรและวิธีการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) เพียงสูตรเดียว พร้อมย้ำว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการคำนวณเพื่อประกาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ หลักคิดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งให้ทุกคะแนนที่ประชาชนออกเสียงมีความหมาย ไม่ถูกทิ้งเสียเปล่า เพื่อเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่ประชาชนคิด และวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตารางการคำนวณก็ไม่ได้เพิ่งจะมาคิด แต่มีการเสนอมาตั้งแต่ในชั้นของ กกต.ชุดที่แล้ว เสนอมาที่ กรธ. และเสนอต่อไปที่คณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งในชั้นของกรรมาธิการยกร่างกฎหมายลูกก็ได้มีการนำตารางการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาพิจารณาและยกร่างเป็นกฏหมาย ดังนั้นตารางการคิดคำนวณจำนวน ส.ส. มีอยู่ รัฐสภาไม่ได้ปิดเป็นความลับ สามารถขอตรวจสอบได้
"ในการหารือผมได้ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของการคิดคำนวณว่าเป็นมาอย่างไร ได้เรียนว่ามีอยู่แล้วในร่างเดิม เสนอมาจากสำนักงาน กกต.เอง และก็มีการพิจารณาใน กรธ. ร่างที่เสนอ สนช.ก็มีการเสนอไป และมีการปรับปรุงในวาระขอคณะกรรมาธิการฯ ก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมาย" นายประพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า กรรมการยกร่างฯ ได้พิจารณาการตั้งสมมุติฐานว่าจะมีพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบเขตมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีหรือไม่นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า พิจารณาทั้งหมดว่าถ้ากรณีไม่มีโอเวอร์แฮงค์จะทำอย่างไร หรือมีโอเวอร์แฮงค์จะคิดคำนวณอย่างไร รวมทั้งพิจารณาไปถึงว่าถ้าต้องประกาศ ส.ส. 95% เพื่อให้เปิดประชุมสภาได้ การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะคิดอย่างไร ซึ่งก็เขียนออกมาเป็นมาตรา 128 และ 129
ส่วนกรณีที่ 12 พรรคเล็กจำนวน ส.ส.พึงมีไม่ถึงจำนวน แต่กลับได้ที่นั่ง ส.ส.นั้นอยู่ในสูตรที่ กธร.คิดหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นสูตรที่มีอยู่ในสูตรของกรรมาธิการฯและมีปรากฏมานานแล้ว