นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งข้อสังเกตกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) หรือ AOT เดินหน้าเร่งประมูลโครงสร้างร้านค้าปลอดอากร โครงการร้านค้าเชิงพาณิชย์ ทั้ง ๆ ที่กฏหมายลูกตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ยังไม่ได้ข้อยุติ ถือว่าเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ซึ่งมองว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฏหมายและนำไปสู่การทุจริตได้ ทั้งนี้ ได้เตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องศาลอาญาต่อไป
นายชาญชัย ยังได้ยกคำให้สัมภาษณ์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562 แต่มีวรรคท้ายของมาตรา 7 ให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้กำหนดรวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม. แต่ปรากฏว่า ทอท.ได้ดำเนินการก่อนที่ ครม.จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้หน่วยงานปฏิบัตร ซึ่งกฎหมายลูกยังไม่ออกมาบังคับใช้ ได้กระทำการเกินขอบเขตอำนาจ หน้าที่ และกฎหมายหลายฉบับ เพื่อจะเร่งประมูลโครงสร้างร้านค้าปลอดอากรโครงการร้านค้าเชิงพาณิชย์
ดังนั้น จึงต้องข้อสังเกตว่า การที่นายสมคิดระบุว่า ทอท.สามารถทำได้ควบคู่ไปกับหลักเกณฑ์ที่ ครม. กำลังพิจารณาว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎหมายลูกออกมาอย่างไร ทั้งที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เร่งรีบแก้ไขโดยคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ที่เดิมกำหนดไว้ว่าโครงการใดที่ลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องให้หลายหน่วยงานรัฐร่วมพิจารณา และไม่ให้หน่วยงานเดียวกันอนุมัติหรืออนุญาต
ซึ่งพฤติกรรมที่ผิดปกติ คือ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 แต่ปรากฏว่าวันที่ 11 มีนาคม 2562 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้ลงนามประกาศขายแบบให้สิทธิการบริหารจัดการร้านค้าปลอดอากรและร้านค้าเชิงพาณิชย์ทันที
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม มีหนังสือแจ้งต่อบอร์ด ทอท.ให้ชะลอการประกวดราคาใน 2 โครงการที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะกระทรวงคมนาคมแจ้งให้ ทอท.ทราบว่า 2 โครงการนี้ ต้องใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 เข้าดำเนินการประมูล มิใช่ใช้อำนาจบอร์ด ทอท.ไปอนุมัติเพื่ออนุญาตได้เองเพียงหน่วยงานเดียว และวันที่ 29 มีนาคม 2562 นายนิตินัยได้อ้างมติบอร์ด ทอท.อนุมัติใหม่ แบ่งเป็น 2 สัญญา ให้สามารถประมูลทั้ง 2 โครงการโดยไม่ต้องรอกฎหมายลูกที่ ครม.จะพิจารณาว่าจะให้ทำอย่างไร ซึ่งถือเป็นการเร่งรีบในการหลีกเลี่ยงการทำตามกฏหมายที่กำหนดหรือไม่
"ผมแปลกใจมาก ตั้งแต่ผมเป็นผู้แทนฯ ตั้งแต่ปี 2538 ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและตรวจสอบการทุจริต ผมไม่เคยเจอเคสไหนเหมือนเคสนี้ ซึ่งกฏหมายลูกเป็นตัวบัญญัติบอกวิธี รายละเอียด สรุปแล้วรองนายกรัฐมนตรีกลับไปบอกให้หน่วยงานทำได้ ทั้งที่กฏหมายไม่ให้ทำ เรื่องนี้คือประเด็นใหญ่ แม้รองนายกฯ ยังกล้าฝ่าฝืนทำกฏหมาย มันมีเรื่องที่ต้องเร่งรีบประมูลให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลที่จะหมดอายุเร็วๆ นี้หรือไม่ แล้วทำไมต้องเร่งรีบขนาดนี้ มันมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในนั้นหรือ" นายชาญชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า จากนั้นในวันที่ 3 เมษายน 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ให้ ทอท.ทำไปก่อนกฎหมายลูกจะออกมาก็ได้ ถ้าผิดค่อยกลับมาแก้ไขใหม่ จึงส่อให้เห็นว่าพฤติกรรมของนายสมคิด และ ทอท. ร่วมกันบิดเบือนไม่ปฏิบัติตามกฏหมายกระทรวงการคลัง แก้กฏหมาย เร่งรีบดำเนินการ
ทั้งนี้ นายชาญชัย จะเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ทั้งหมดที่นำไปสู่การทุจริต ผ่านทางเฟซบุ๊กอีก 3-4 ครั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป
นอกจากนี้ นายชาญชัย ได้ยกคำพูดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) ที่ระบุว่า "รัฐบาลนี้ไม่โกง แต่ถ้าผมพูดผิด นายกรัฐมนตรีต้องไปจัดการ" จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาตรวจสอบและจัดการในเรื่องนี้ด้วย