ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับให้ รฟท.จ่ายชดเชยคืนให้โฮปเวลล์ฯ 11,888 ลบ. พร้อมดอกเบี้ย

ข่าวการเมือง Monday April 22, 2019 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

โดยมีผลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายเงินคืนแก่บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วย เงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท.ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.51 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.51 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.51 และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งสอง เนื่องจากศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.41 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ระยะเวลาของการเสนอข้อพิพาทจะครบกำหนดห้าปี คือ ในวันที่ 30 ม.ค.46 ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.47 การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่อระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ ถือได้ว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ศาลจึงเห็นว่าในกรณีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ที่ผู้คัดค้านยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้

การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณาและต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 และการที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 จึงเกินกำหนดระยะเวลาตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังกล่าว เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ