นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยึดสูตรคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้การคำนวณดังกล่าวได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคไม่เกินจำนวนที่พึงมี และยึดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อย่างเคร่งครัด หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องของกกต. เพื่อไม่ให้สังคมครหาหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตนเชื่อว่าหากกกต. ปฏิบัติตามกฎหมาย จะไม่มีความสับสน คลุมเครือ และจะไม่มีคำท้วงติง แต่การกระทำที่ผ่านมายังไม่ใช่
"ไม่ว่าสูตรใด กกต. ต้องยึดข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ยืนยันว่าการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเติมเต็มให้ พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์พึงมีได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง เป็นการคำนวณที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ หากกกต.ยืนยันใช้สูตรที่แจกส.ส.ให้พรรคเล็ก ถือเป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ และ กกต.ต้องรับผิดชอบกระทำของตัวเอง เพราะการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องนี้หาก กกต.ยืนยันทำผิด พรรคจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องรอให้กกต.ประกาศผลก่อน ทั้งนี้การทำงานของ กกต.ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะเป็นประโยชน์ของประเทศ" นางลดาวัลลิ์ กล่าว
ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ กกต. มีมติให้ใบส้ม นายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ ส.ส. เชียงใหม่ เขต 8 เพราะพบการกระทำทุจริตการเลือกตั้งว่า ในช่วงเช้าวันที่ 26 เม.ย. นายสุรพล จะเดินทางมาหารือกับฝ่ายกฎหมาย ถึงกระบวนการที่อาจใช้สิทธิโต้แย้ง กกต.ที่มีคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ ผ่านกระบวนการทางศาลปกครอง แม้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะระบุว่าคำตัดสินของ กกต.ถือเป็นที่สุดก็ตาม
"ฝ่ายกฎหมายจะพิจารณารายละเอียด โดยเฉพาะกระบวนการตัดสินที่เร่งรัดเกินไป โดย กกต.แจ้งข้อกล่าวหาให้นายสุรพล วันที่ 18 เม.ย. ซึ่งนายสุรพลได้ชี้แจงรายละเอียด วันที่ 19 เม.ย. แต่ภายใน 5 วันคือ 23 เม.ย. กกต.ชี้มูลเรื่องดังกล่าว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาว่าพอจะมีทางที่รักษาสิทธิอย่างไรได้หรือไม่" นายชุมสาย กล่าว