นายปลอดประสพ สุรัสวดี แกนนำพรรคเพื่อไทย ตั้งโต๊ะแถลงกรณี นายชาญวิทย์ วิภูศิริ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถือหุ้นสื่อว่า พรรคจะร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้มีการเลือกตั้งใหม่เขต 15 กทม. เพราะหากพิจารณาว่านายชาญวิทย์ขาดคุณสมบัติก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่.เพราะนายชาญวิทย์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตนี้
นอกจากนั้น นายชาญวิทย์ยังเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ทำให้มีผลต่อสถานะของพรรค พปชร.ดังนั้น ขอให้ กกต.พิจารณานำเรื่องไปพิจารณาและนำเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค พปชร.ด้วย
"จะร้องไปยังกกต. เพื่อให้จบสิ้นกระบวนความไม่ค้างคา จึงจะร้องตัวนายชาญวิทย์ และร้องนายชาญวิทย์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค พปชร.ฐานจงใจกระทำความผิด เรื่องที่ทำต้องการให้ประเทศเป็นนิติรัฐ ทุกคนเคารพกฎหมายเท่าเทียม"
อนึ่ง นายชาญวิทย์ ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 15 มีนบุรี-คันนายาว กทม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ที่ 31,551 คะแนน
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะเดินทางไปยื่นหนังสือข้อร้องเรียนต่อ กกต.ในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) เวลา 10.00 น. หาก กกต.มีมติว่าทำผิดกฎหมาย กกต.ก็มีอำนาจยื่นศาลให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้
ส่วนการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เบื้องต้นจะต้องเพิกถอนการรับสมัครการเรื่องตั้งของนายชาญวิทย์ และจากการที่เป็นผู้ที่มีคะแนนมาอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 15 กทม.กกต.ก็จะต้องระงับการประกาศผลการเลือกตั้งในเขตนั้น จากนั้นต้องไต่สวนสอบสวนกรรมการบริหารพรรคว่าต้องรับผิดชอบหรือไม่ ถ้าเห็นว่าต้องรับผิดชอบก็ต้องมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารนั้นตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ นายชาญวิทย์นั้นขณะที่เลือกตั้งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่มีมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ ให้บริการสื่อมวลชน ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เพราะฉะนั้นถือได้ว่าถือหุ้นอยู่ในกิจการสื่อ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 89(3) และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรนูญว่าด้วยการเลือกตั้งมาตรา 42(3) ถือว่าเป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และการที่บุคคลใดจะลงสมัครรับเลือกตั้ง และต้องผ่านการลงนามของกรรมการบริหารพรคคก่อนลงสมัครการเลือกตั้ง แต่ขณะนั้นนายชาญวิทย์ เป็นกรรมการบริหารด้วยเช่นกัน ก็แสดงให้เห็นว่ากรรมการบริหารทั้งหลายมีส่วนรู้เห็น มีส่วนรับรู้ส่งผู้สมัครโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งมีบทบัญญัติให้กรรมการบริหารควบคุมดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ยุติธรรม กรณีนี้ถือเสมือนว่ากรรมการบริหารทำผิดกฎหมายเสียเอง ดังนั้น กรรมการบริหารต้องรับผิดชอบ