นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระแสข่าวการเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาในวันที่ 21 พ.ค.ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดไทม์ไลน์ใดๆ เกี่ยวกับการเปิดประชุมรัฐสภา ตนและนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไม่เคยคุยกันถึงเงื่อนเวลาการเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ในวันที่ 21 พ.ค.รวมถึงวันเวลาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงหลังวันที่ 24 พ.ค.
ส่วนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี จะเป็นวันใดนั้น ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองส.ส.ให้ครบ 95% ก่อน จากนั้นต้องรอพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก และต้องสอบถามพรรคการเมืองว่า มีความพร้อมในวันใดในการเลือกตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี
"ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีอำนาจกำหนดเอง ดังนั้นไทม์ไลน์ต่างๆ ที่ออกมาจึงไม่เป็นความจริง" เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกล่าว
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับรายงานตัวส.ส.นั้น ขณะนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีความพร้อมแล้ว สามารถรับรายงานตัวได้ทันทีที่ กกต.ประกาศให้การรับรองส.ส. โดยเตรียมสถานที่ชั้น 4 อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย ฝั่งติดกับบริษัท บุญรอดบริเวอรี่ จำกัด เป็นสถานที่รับรายงานตัวส.ส.
ขณะที่สถานที่เลือกนายกรัฐมนตรียังคงใช้หอประชุมทีโอที แจ้งวัฒนะตามเดิม ยังไม่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนสถานที่ประชุม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาและพรรคการเมืองจะหารือกันว่าจะใช้สถานที่ใด ส่วนตัวมองว่าหอประชุมทีโอทีมีความคับแคบเกินไป ไม่สามารถรองรับสมาชิกรัฐสภา 750 คนได้ แต่ในส่วนของห้องประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น มีสถานที่กว้างขวางสามารถรองรับสมาชิกรัฐสภา 750 คนได้ แต่ติดปัญหาเรื่องที่จอดรถที่อาจจะต้องใช้พื้นที่สนามหลวงแทน
ด้านนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับการเข้ารับตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ที่มาจากการแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน โดยทันทีที่ ส.ว.ได้รับการโปรดเกล้าฯ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อรับรายงานตัวที่อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น ขณะที่ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาทิ การมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา, การเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภานัดแรก เบื้องต้นต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ส่วนขั้นตอนการเลือกประธาน ส.ว. และ รองประธาน ส.ว. นั้นจะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม คือ ให้ ส.ว.ที่อาวุโสสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมชั่วคราว ส่วนบุคคลที่จะถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ต้องมาจากการเสนอชื่อและให้สมาชิกร่วมลงคะแนน ในการนับองค์ประชุมนั้นจะใช้ระบบนับจำนวนสมาชิกที่ยกมือ ขณะที่การลงคะแนนจะใช้การลงคะแนนผ่านบัตรลงคะแนนที่ต้องลงรายละเอียด คือ หมายเลขประจำตัวสมาชิก ขณะที่บัตรลงคะแนนประกอบด้วยบัตรสีน้ำเงิน หมายถึง เห็นชอบ, บัตรสีแดง หมายถึงไม่เห็นชอบ และบัตรสีขาว หมายถึงงดออกเสียง
ทั้งนี้การลงคะแนนผ่านเครื่องลงคะแนนเสียงนั้น ยังไม่มีความพร้อม ขณะที่วันและเวลาที่จะดำเนินการนั้นตนไม่สามารถระบุความชัดเจนได้ เนื่องจากในกรณีดังกล่าวต้องเป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วย
"การเรียกประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อเลือกประธานส.ว. 1 คนและ รองประธาน ส.ว. จำนวน 2 คนนั้น ต้องรอการเรียกประชุมซึ่งตามกฎหมายต้องมีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมก่อน จากนั้นถึงจะนัดประชุมได้ เบื้องต้นในการประชุมส่วน ของ ส.ว.เพื่อทำตามขั้นตอนนั้น จะใช้สถานที่คือ หอประชุมบริษัททีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะเป็นการประชุมคนละเวลากับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 คน" นายนัฑ กล่าว