นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรค เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายบุคคลเพื่อขอให้พิจารณาประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในวันพรุ่งนี้ โดยเรียกร้องให้ กกต.ยึดการพิจารณาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
นางลดาวัลลิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองและทีมโฆษกพรรคเพื่อไทยได้เข้ายื่นหนังสือถึง กกต.หลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจน ครั้งนี้พรรคจึงตัดสินใจเข้ายื่นหนังสือถึง กกต.แต่ละคน โดยขอให้ทบทวนการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่าหากคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญจะมีเพียง 16 พรรคเท่านั้นที่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ถ้า กกต.ใช้วิธีนอกเหนือจากกฎหมายก็จะส่งผลให้มี 27 พรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
"การเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กกต. มีอำนาจที่ต้องควบคุมให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับโดยรวม" นางลดาวัลลิ์ กล่าว
ด้านนายชุมสาย กล่าวว่า หากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในวันพรุ่งนี้ ( 8 พ.ค.) ออกมาเป็นอย่างไรก็ถือว่าเป็นที่สุด พรรคจะน้อมรับและไม่ก้าวล่วงคำตัดสินของศาล
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้ลงนามในหนังสือที่ทำไปถึง กกต.เป็นรายบุคคล เพื่อต้องการให้ กกต.ทั้งหมดได้รับรู้รับทราบถึงข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย เนื้อหาสาระสำคัญ อ้างถึง หนังสือที่พรรคเคยทำไปถึงประธาน กกต.เมื่อ 10 เม.ย.เสนอให้คำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 พร้อมกับแนบท้ายความคิดเห็นของพรรคว่า พรรคใดบ้างควรได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันว่าวิธีคิดคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ได้เรียนไป มีการเขียนไว้ชัดเจนคือหากพรรคการเมืองใดก็ตามไม่มีจำนวนคะแนนที่ได้รับถึงคะแนนที่พึงมีได้ พรรคการเมืองนั้นก็จะไม่ได้รับจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นเพื่อความชัดเจนพรรคจึงมีหนังสือถึง กกต.เป็นรายบุคคล เพราะไม่อยากให้ กกต.ดำเนินการใดๆ เกินเลย ที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ หากเป็นเช่นนั้น กกต.อาจต้องรับผิดชอบทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรือองค์คณะ
นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบด้วยกระบวนการสรรหา ส.ว.ซึ่งเรื่องนี้เมื่อวันที่ 23 เม.ย.พรรคเพื่อไทย เคยทำหนังสือถึงประธาน กกต.ขอให้ยกเลิกการสรรหา ส.ว.ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญไปแล้ว เพียงแต่ไม่ทราบว่า กกต.ได้หยิบยกมาพิจารณามากน้อยเพียงใด
การสรรหา ส.ว.ในรัฐธรรมนูญระบุ คสช.แต่งตั้งกรรมการสรรหามาหนึ่งชุดมีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน โดยผู้ที่ทำหน้าที่สรรหาต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่กระบวนการสรรหา ส.ว.ในครั้งนี้กลับถูกปิดเป็นความลับ พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าการสรรหาในลักษณะนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขอให้กกต.หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา และยกเลิกการสรรหาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ด้านนายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราไม่อยากเห็นประเทศเดินไปในทิศทางที่ขึ้นอยู่กับประโยชน์กลุ่มบุคคลหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในเรื่องของที่มา ส.ว.ไม่เห็นด้วยที่ใครจะมากำหนด องค์ประกอบ ส.ว.โดยไม่ทำตามกฎหมาย จากนั้นก็ให้พรรคพวกของตนมากำหนดประเทศตามที่ตัวเองปรารถนา กกต.ไม่ควรใช้ดุลพินิจโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะการเดินทางอย่างถูกต้องจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวม
สำหรับการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนตัวเชื่อมั่นในการจับมือเพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจ เราไม่อยากให้ฝ่ายใดใช้เงินหรือกระบวนการนอกระบบสร้างงูเห่าทางการเมือง เพราะถือเป็นเรื่องน่าอัปยศ ยังเชื่อว่าพรรคการเมืองที่เคยไปร่วมลงสัตยาบันยังจับมือกันเพื่อจะทำให้ประเทศชาติมั่นคงและแข็งแรง