ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) สำรวจพบว่า แรงสนับสนุนจากสาธารณชนต่อ นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่า สัดส่วนของผู้ที่สนับสนุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.3 ในการสำรวจก่อนได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ มาอยู่ที่ร้อยละ 58.7 ในการสำรวจหลังจากได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และเมื่อจำแนกตามกลุ่มคนที่เคยเลือกพรรคการเมืองต่างๆ พบว่า สัดส่วนของผู้สนับสนุนนายสมัคร สุนทรเวช เพิ่มขึ้นในทุกพรรคการเมืองเช่นกัน แต่ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทยมีสัดส่วนของผู้ไม่สนับสนุนมากกว่ากลุ่มคนที่เลือกพรรคอื่นๆ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ความคิดเห็นของประชาชนต่อจุดยืนของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะนำนโยบายของพรรคไทยรักไทยในอดีตมาต่อยอดในการบริหารประเทศครั้งนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย เช่น ร้อยละ 95.8 เห็นด้วยกับนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดของพรรคไทยรักไทยในอดีต ในมิติของความเอาจริงเอาจัง ที่ไม่ใช่การฆ่าตัดตอน, ร้อยละ 94.5 เห็นด้วยกับงานพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน, ร้อยละ 94.3 เห็นด้วยกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา, ร้อยละ 93.8 เห็นด้วยกับนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, ร้อยละ 88.9 เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ร้อยละ 83.2 เห็นด้วยกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง, ร้อยละ 77.4 เห็นด้วยกับการกระตุ้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่, ร้อยละ 69.9 เห็นด้วยกับโครงการโคล้านตัว, ร้อยละ 69.2 เห็นด้วยกับผู้ว่า ซีอีโอ ในขณะที่เห็นด้วยน้อยสุดแต่ยังถือว่าเป็นส่วนใหญ่คือร้อยละ 64.4 เห็นด้วยกับแนวคิดหวยบนดิน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ประเด็นหวยบนดินยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางสังคมในรัฐบาลชุดนี้ เพราะจะพบกับกระแสต่อต้านประมาณร้อยละ 35 — 40 เนื่องจากอาจถูกมองว่าขัดต่อระบบคุณธรรมและหลักศาสนาของสังคมไทย แม้คนไทยส่วนใหญ่อาจเห็นด้วยแต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่จำนวนมาก
หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวสรุปว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนให้โอกาสสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลและนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่อายุรัฐบาลจะสั้นหรือยาวก็ขึ้นอยู่กับความแตกแยกหรือสามัคคีของคนในพรรคร่วมรัฐบาล จนอาจกล่าวได้ว่า ประชาชนให้โอกาสสนับสนุนแล้วจะอยู่หรือไปนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับคนวงในพรรคร่วมรัฐบาลเอง และผลงานที่ต้องจับต้องได้โดนใจประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะหลังจากที่ประเทศไทยมีความชัดเจนทางการเมืองว่าใครเป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีแล้ว ประชาชนที่ถูกวิจัยมีความสุขครั้งนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยมีสุขภาพใจเป็นปัจจัยตัวนำ ตามด้วยชีวิตการทำงาน บรรยากาศในครอบครัว บรรยากาศในชุมชน และความเป็นธรรมในสังคม
ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลได้พิจารณาปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่ค้นพบครั้งนี้นำไปหนุนเสริมแนวนโยบายสาธารณะเฝ้าระวังรักษาประโยชน์สุขของสาธารณชนต่อไป
อนึ่ง ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง รายงานดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยประจำเดือนมกราคม 2551: กรณีศึกษาประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษากับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,246 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30 มกราคม 2551 — 2 กุมภาพันธ์ 2551
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--